นายณกรณ์ ตรรกวิรภัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวนกว่า 1.6 ล้านราย วงเงินประกันรวม 7.6 พันล้านบาท ขณะนี้ กยท. ได้เร่งตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรเพื่อความถูกต้อง เนื่องจากมีบางรายแจ้งขอปรับปรุงข้อมูลพื้นที่ขึ้นทะเบียน โดยจะสรุปรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสิทธิ์รับเงินประกันโครงการฯ ส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการอนุมัติวงเงินเพื่อจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยางในโครงการฯ ต่อไป
“เมื่อคณะกรรมการ ธ.ก.ส. อนุมัติวงเงินแล้ว จะสามารถจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ ระยะที่ 4 ได้ทันที คาดว่าเงินจะถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางภายในมีนาคมนี้” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรสามารถตรวจสอบสิทธิ์ในโครงการประกันรายได้ ระยะที่ 4 ผ่านเว็บไซต์การยางแห่งประเทศไทย หรือที่ทำการกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 แต่ไม่มีรายชื่อ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ด้วยตนเอง ที่กยท. จังหวัด หรือ กยท.สาขา กรณีที่ไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง ให้มอบหมายบุคคลอื่นยื่นอุทธรณ์แทนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่4 นั้นเป็นการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย เป็นเจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย คนกรีดยาง 231,514 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่ ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565)
โดยกำหนดราคาประกันผลผลิตยางแต่ละชนิด ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด (DRC 100%) กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) กก.ละ 23 บาท แบ่งสัดส่วนรายได้ให้เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด งบประมาณโครงการรวม 7,643,857,284.15 บาท
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2 ระยะเวลาโครงการ 2 ปี นับจากวันที่ ครม.อนุมัติโครงการโดยรัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 600 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ให้แก่กิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ภายใต้เงื่อนไขรับซื้อไม้ยางราคาไม่ต่ำกว่า ตันละ 1,500 บาท ทั้งนี้กำหนดระยะเวลาในการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการ 1 ปี แต่ชดเชยไม่เกินระยะเวลาดำเนินโครงการ