ก.เกษตรฯ จัดอบรมครูยางอาสาทั่วประเทศ เสริมทัพพัฒนาภาคการเกษตรของไทย

ก.เกษตรฯ จัดอบรมครูยางอาสาทั่วประเทศ เสริมทัพพัฒนาภาคการเกษตรของไทย พร้อมชูโครงการเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ : SECri สร้างประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแรงงาน การวิจัยและเทคโนโลยีและการส่งเสริมและต่อยอดอุตสาหกรรมยางพารา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมครูยางอาสา หลักสูตร “การถ่ายทอดเทคโนโลยียางสำหรับครูยาง” ณ ห้องประชุมรัษฎา ชั้น 2 อาคาร 2 การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งการจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูยางอาสาได้รับทราบนโยบายการส่งเสริมการเกษตรด้านยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และนำความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยี ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างโอกาสให้ครูยางอาสาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในการปฏิบัติงาน และปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีครูยางอาสาในสังกัด กยท. ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศเข้าอบรมผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) จำนวน 3,953 คน

         

332214128 137053185957490 7524939534999778006 n
จัดอบรมครูยางอาสาทั่วประเทศ

“ครูยางอาสาเป็นอาสาสมัครเกษตรภายใต้ระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยอาสาสมัครเกษตร พ.ศ. 2563 ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของ กยท. ทั้งด้านการพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืน การยกระดับคุณภาพผลผลิตยาง การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ คาดว่าครูยางอาสาจะนำความรู้และความเข้าใจไปปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการพัฒนายางพารา การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และพัฒนาการเกษตรของประเทศต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว

         

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย ได้มีแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ : SECri (Southern Economic Corridor of Rubber Innovation) โดยโครงการดังกล่าว เดิมคือโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ (Rubber Valley) ที่เคยศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ในการพัฒนาพื้นที่ในบริเวณอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดประมาณ 3,500 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาต่อยอดกิจการและความเป็นอยู่ของชาวสวนยางพาราให้ดียิ่งขึ้น

และเมื่อการมีการศึกษาความเป็นไปได้พบว่ามีความเหมาะสมในเบื้องต้นที่จะเป็นพื้นที่เป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา หรือเป็นพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมยางพารา เพื่อรองรับการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การเป็นต้นแบบเกษตรกรรมสวนยางอย่างยั่งยืนและเกษตรกรรมสวนยางผสมผสาน และการบ่มเพาะความรู้ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ กยท. กำกับดูแล ในบริเวณ อ.ช้างกลาง (ส่วนที่เหลือจากพื้นที่โครงการฯ) ขนาดพื้นที่ประมาณ 7,910 ไร่ และในบริเวณ อ.ทุ่งใหญ่ ขนาดพื้นที่ประมาณ 25,610 ไร่ มีความเหมาะสมในเบื้องต้นที่จะเป็นพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรมสวนยางอย่างยั่งยืนและเกษตรกรรมสวนยางแบบผสมผสาน

โดยมี5 Key Moves ของ SECri ได้แก่ 1) การเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมยางพาราไทยด้วยนวัตกรรม (Strengthen) 2) การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมยางพาราที่ครบวงจร (Establish) 3) การเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายถนน เรือ ราง และอากาศ (Connect) 4) ยกระดับเสถียรภาพราคาและคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพารา (Raise) และ 5) บูรณาการระบบต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ยางพารา (Integrate)

         

ทั้งนี้ กยท. มุ่งพัฒนา SECri ระบบนิเวศอุตสาหกรรมยางพาราที่มีต้นทุนต่ำและประสิทธิภาพสูง มีระยะเวลา 7 ปี โดยการพัฒนาพื้นที่โครงการใน 8 ธุรกิจอุตสาหกรรมยางพารา ได้แก่ 1) น้ำยางคอมปาวด์ 2) ยางคอมปาวด์และยางผสม 3) ถุงมือยาง 4) ยางทางเภสัชกรรมและการแพทย์ 5) ถุงยางอนามัย 6) พื้นรองเท้า 7) ที่นอนและหมอนยางพารา และ 8) ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา

         

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว คาดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ ทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ GPP จังหวัดเพิ่มขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด ทั้งด้านที่อยู่อาศัย การเดินทาง การท่องเที่ยว อาทิ MICE ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เกิดการพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมในโครงการ อาทิ ถนน ระบบสาธารณูปโภคแหล่งการเรียนรู้ เกิดช่องทางการขนส่งที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนการเชื่อมโยงกับช่องทางและเส้นทางอื่น ๆ ด้านการพัฒนาแรงงาน การวิจัยและเทคโนโลยี ขยายการสร้างงานประมาณ 45,020 คน ต่อยอดฐานความรู้ด้านการเกษตร ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิต และการส่งเสริมและต่อยอดอุตสาหกรรมยางพารา เพิ่มความต้องการการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมขั้นต่าง ๆ ผลักดันกลไกราคายางให้มีประสิทธิภาพ และต่อยอดสู่การพัฒนาการเปิดประมูลยางพาราในตลาดท้องถิ่นที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งมีแผนพัฒนาโครงการ พ.ศ.2567 – 2573 งบประมาณ 10,200 ล้านบาท

MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image