วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม “มาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน” พร้อมมอบนโยบายการกำกับดูแลการส่งออกทุเรียนไปจีนในฤดูกาลผลิตปี 2566 แก่คณะผู้บริหารและนายตรวจพืชกรมวิชาการเกษตร ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสินค้าพืชตามพระราชบัญญัติกักพืชพ.ศ 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชประกอบการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้ตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชมากกว่า 400,000 ฉบับ สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก
โดยมีทุเรียนผลสดและแช่เยือกแข็งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญมีการส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนมากเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลผลิตทุเรียนปี 2566 นี้คาดว่าประเทศไทยจะมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น เนื่องจากประเทศจีนอนุญาตให้ประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์สามารถส่งออกผลทุเรียนสดแช่เยือกแข็งไปยังประเทศจีนได้แล้ว ดังนั้นการที่จะสามารถรักษาตลาดส่งออกทุเรียนไทยไว้ได้จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพที่ได้มาตรฐานเท่านั้น
ได้มอบนโยบายและสั่งการไว้ในการเปิดสัมมนา “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ” ให้กรมวิชาการเกษตรตั้งหน่วยเฉพาะกิจ “ระดับกรม” ขึ้นตรงอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเพื่อดำเนินการตรวจสอบทุเรียนต้องได้คุณภาพ และปราบปรามทุเรียนสวมสิทธิ์ขั้นเด็ดขาด โดยออกมาตรการควบคุมกำกับดูแลให้ครอบคลุมทั้งการนำเข้าและการส่งออกทุเรียน
โดยการนำเข้าจะต้องเข้มงวดตรวจสอบและติดตามการนำเข้าทุเรียนทุกชิปเมนท์และต้องแจ้งวัตถุประสงค์การนำเข้าต่อด่านตรวจพืชที่นำเข้าพร้อมกับแจ้งด่านตรวจพืชที่อยู่ในพื้นที่สถานที่เก็บ เพื่อตรวจติดตามการแปรรูป หากมีการส่งออกจะต้องตรวจสอบแหล่งที่มาและปริมาณการนำเข้าที่สัมพันธ์กัน
สำหรับการส่งออกทุเรียน ทุกชิปเม้นท์จะต้องผ่านการตรวจใบรับรอง GAP ที่รับรองจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และเขตที่เกี่ยวข้อง โดยด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรทุเรียนทุกชิปเม้นท์ 100 % ที่ส่งออกต้องผ่านการตรวจคุณภาพ (เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน) และผ่านการตรวจศัตรูพืช ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ตามข้อตกลงตามพิธีสารไทย-จีน เพื่อรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งผนึกซีลกรมวิชาการเกษตรท้ายตู้จนถึงปลายทางประเทศจีน
โดยได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการทุกขั้นตอน ในฤดูกาลผลิตปี 2566 ทุเรียนส่งออกต้องเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเท่านั้น จะต้องไม่มีทุเรียนด้อยคุณภาพหลุดออกไปทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยโดยเด็ดขาด
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนเตรียมการรองรับสำหรับการส่งออกทุเรียนฤดูกาลนี้ไว้แล้ว รวมถึงการจัดประชุมในวันนี้เพื่อให้ด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาทักษะนายตรวจพืชสำหรับตรวจทุเรียนส่งออกไปจีนให้มีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยให้ยั่งยืน
โดยขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้รับมอบหมายเข้มงวดตรวจสอบและควบคุมการส่งออกทุเรียนให้เป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้าและส่งออกตามพระราชบัญญัติกักพืชอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาคู่ค้าที่สำคัญพร้อมกับผลักดันให้การส่งออกทุเรียนไทยมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทยต่อไป
สำหรับการส่งออกทุเรียนสดตั้งแต่เดือนมกราคม – 16 กุมภาพันธ์ 2566 ส่งออกไปแล้วจำนวน 16 ชิปเมนท์ ปริมาณ 27,327.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,823.77 ล้านบาท