26 กุมภาพันธ์ 2566 นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการทำ MOU “อมก๋อยโมเดล” ซื้อทุเรียนหมอนพระร่วง ระหว่างบริษัท กสิรุ่งเรือง จำกัด และกลุ่มแปลงใหญ่ 4 กลุ่มประกอบไปด้วย
1.กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านตึก
2.กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านนาต้นจั่น
3.กลุ่มแปลงใหญ่บ้านปากทรวง
4.กลุ่มแปลงใหญ่บ้านห้วยตม
รวมสมาชิก 300 คน พื้นที่ปลูกเกือบ 2,000ไร่ ผลผลิตประมาณ 3,000 ตัน มูลค่าราวๆ 300 ล้านบาท
การทำ MOU นี้ได้รับการผลักดันร่วมกันระหว่างบริษัทและนายรวม ล้นเหลือ ฝ่ายการตลาดของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลบ้านตึก ซึ่งได้ไปร่วมกิจกรรมยกระดับคุณภาพทุเรียนลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี 2565
โดยเป็นการจัดร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกลุ่มผู้ส่งออกทุเรียนในเครือกลุ่มบริษัท The LIS โดยมีนายนราพัฒน์ แก้วทอง เป็นประธานการจัดกิจกรรมและผู้ผลักดันการยกระดับคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรร่วมกับผู้ประกอบการ ภายใต้คอนเซ็ปท์ Big brother
นายรวม ล้นเหลือ ฝ่ายการตลาดกลุ่มแปลงใหญ่ที่ไปร่วมงาน เล็งเห็นว่า ควรขับเคลื่อนต่อยอดกับภาคเอกชนต่อ ด้วยการช่วยกันผลักดันสร้างศูนย์รับซื้อทุเรียนในพื้นที่ ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย จนมาสำเร็จและพร้อมที่จะรับซื้อได้ในปี 2566 ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสในการพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
“ทุเรียนหมอนพระร่วง”เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีอัตลักษณ์เฉพาะเนื่องจากปลูกในพื้นที่ภูเขาสภาพหินผุ มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ และมีปริมาณน้ำฝนไม่มากจึงทำให้เนื้อทุเรียนแห้ง ไม่แฉะ เนื้อหนา ละเอียดรสชาติหวานมัน เข้มข้น ปลูกมากในพื้นที่ ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
โดยชื่อทุเรียนหมอนพระร่วงได้รับคัดเลือกจากการประกวดโดยประชาชนชาวสุโขทัยทั้งจังหวัด
ทั้งนี้ สุโขทัยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่า 20,000 ไร่ มีปลูกกันมากที่ศรีสัชนาลัย เป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้จังหวัดสุโขทัย ปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และมีประวัติการปลูกมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2340 มีอัตลักษณ์เฉพาะ เนื่องจากปลูกในพื้นที่เขาสภาพดินผุ มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำฝนไม่มาก จึงทำให้ทุเรียนมีเนื้อแห้ง กรอบ ไม่แฉะ รสชาติเข้มข้น เนื้อทุเรียนมีสีเหลืองนวล เนื้อหนา ละเอียด เมล็ดลีบ ไม่หวานจัด เกษตรกรปลูกแบบธรรมชาติ ใช้สารเคมีค่อนข้างน้อย ทำให้มีความปลอดภัย
ในปัจจุบันหน่วยงานราชการได้เข้ามาส่งเสริมการผลิต ให้ได้คุณภาพมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด แต่ทุเรียนสุโขทัยยังไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ จึงไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพื่อเป็นการพัฒนาสินค้าทุเรียนให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (story) มีความแตกต่างจากสินค้าแหล่งอื่นๆ และเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน