ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อร้องเรียนของสภาอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกลำไย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในความกังวลเกี่ยวกับโครงการเยียวยาลำไยผ่านนายขยัน วิพรหมชัย ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์จังหวัดลำพูน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์นั้น ล่าสุดทราบว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เซ็นเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2565 ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานพิจารณาต้นทางเสนอมา
จากนั้นฝ่ายเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง โดยความเห็นของสำนักงบประมาณได้ส่งเรื่องให้ฝ่ายเลขาต้นทางซึ่งคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระเบียบบางประการก่อนที่จะนำเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้งโดยล่าสุดฉบับปรับปรุงแก้ไขนี้นายจุรินทร์ได้ ลงลายเซ็นอีกรอบหนึ่งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ให้นำกลับเข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อการดูแลต้นทุนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ซึ่งครอบคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออก แต่มีรายงาน จากสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่าฝ่ายเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและเลขา ครม.ยังไม่ได้หยิบเรื่องนี้บรรจุเข้าเป็นวาระในที่ประชุมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าไม่น่าจะติดขัดอะไรอีกแล้วซึ่งในวันจันทร์นี้ทางเกษตรกรขอให้มีผู้ติดตามการบรรจุวาระอีกครั้งหนึ่ง
“อย่างไรก็ตามทราบว่าการดูแลเยียวยานี้เป็นมาตรการเฉพาะกิจนอกเหนือจากมาตรการที่ดูแลโดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิตจนกระทั่งการดูแลตลาดส่งออกมาตลอด 4 ปี โดยผลผลิตล่าสุดปี 2565 มีจำนวน 1.56 ล้านตัน มีการบริโภคภายในประเทศ 20% คือ 0.34 ล้านตัน และผลักดันการส่งออก 80% คือ 1.25 ล้านตัน ตลาดส่งออกมากที่สุดคือประเทศจีน 75% อินโดนีเซีย 13% มาเลเซีย 3% อื่นๆ 9% ช่วงเก็บเกี่ยวของภาคเหนือออกสู่ตลาดมากที่สุดคือช่วงกรกฎาคม- สิงหาคม ประมาณ 37% นอกจากนั้นเป็นลำไยนอกฤดูกาล 40% อยู่ในภาคตะวันออกซึ่งมีช่วงฤดูออกสู่ตลาดมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม คือ 27% ” ดร.มัลลิกา กล่าว
ดร.มัลลิกา ระบุว่า ต้องขอบคุณทั้งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความใส่ใจต่อเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าลำไยจะอยู่ในราคาที่ดีมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาแต่รัฐบาลก็ยังเอาใจใส่ทุกมิติโดยมีมาตรการกับแนวทางแก้ไขปัญหาราคาลำไยมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะมีการจัดการในประเทศทั้งกรณีบริหารจัดการผ่านโรงอบรับซื้อ การสร้างรูปแบบเกษตรพันธสัญญา เช่น อมก๋อยโมเดล การกระจายออกนอกพื้นที่ การใช้โมบายรถเร่ และการเปิดจุดจำหน่าย นอกจากนั้นยังเสริมสภาพคล่องผู้ค้าผู้ส่งออก โดยการใช้มาตรการช่วยค่าบริหารจัดการ 4 บาทต่อกิโลกรัมและช่วยดอกเบี้ย 3% 6 เดือน เป็นต้น
” นอกจากนี้ยังได้รับคำชื่นชมจากทั้งผู้ประกอบการและฝ่ายต่าง ๆ นั่นคือการเตรียมความพร้อมทั้งการขนส่งผลไม้เข้าประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด โดยในปี 2566 ทราบว่าได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานศุลกากรในประเทศทั้งจีน เวียดนาม ลาว มีการจัดประชุมสถานการณ์และแนวทางการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่มเป็นระยะและได้ใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน เป็นเส้นทางใหม่ในการขนส่งผลไม้เพิ่มขึ้นอีก และใช้ประโยชน์จากการจัดทำ Mini-FTA กลับมณฑลยูนนาน นอกจากนั้นยังได้ประสานเป็นการภายในกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องของจีน รวมทั้ง กิจการกระทรวงพาณิชย์ Export Clinic ทั้งหมดจะครอบคลุมมาตรการดูแลต้นทางปลายทาง ยุคนี้ จึงเป็นยุคทองของเกษตรกรอย่างยิ่งยวด ” ดร.มัลลิกา กล่าว