นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำทีมนักวิจัย ตัวแทน กยท. เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการด้านยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ ในการประชุม IRRDB 2022 International Rubber Conference ณ โรงแรม Intercontinental กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ภายในงานได้รับเกียรติจาก Datuk Seri Fadillah Yusof รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้ามาเลเซีย เป็นประธานเปิดงาน
นายณกรณ์ กล่าวว่า IRRDB หรือสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Research and Development Board : IRRDB) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ที่ประเทศสมาชิกมาจากหน่วยงานสถาบันวิจัย มีสมาชิก 19 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา บังคลาเทศ บราซิล แคมารูน จีน โก๊ตดิวัวร์ ฝรั่งเศส กัวเตมาลา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียร์ม่าร์ ไนจีเรีย ไลบีเรีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม ปาปัวนิกินี และไทย
สำนักงานเลขาธิการ IRRDB ตั้งอยู่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันสมาชิกในเรื่องงานวิจัยและพัฒนายางธรรมชาติ ประสานงานระหว่างสถาบันสมาชิก และจัดกิจกรรมการประชุมเพื่อให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก IRRDB จึงเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนางานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปของแต่ละประเทศสมาชิก อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของการผลิต การแปรรูปของเกษตรกรชาวสวนยาง และอุตสาหกรรมยางพาราของแต่ละประเทศต่อไปในอนาคต
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมบอร์ดบริหาร IRRDB ครั้งนี้ มีมติให้ประเทศไทย โดยการยางแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการประชุม IRRDB 2023 International Rubber Conference พร้อมจัดฝึกอบรมให้นักวิจัยยางจากประเทศสมาชิก 19 ประเทศ (IRRDB Fellowship) ช่วงปลายปี 2023
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่ประเทศสมาชิกและสมาคมด้านยางพาราจากทั่วโลกจะร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนงานวิจัยวิชาการ อาทิ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต การบริหารจัดการและควบคุมโรค การพัฒนาผลผลิตยาง เทคโนโลยีชีวภาพของยางธรรมชาติ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในขณะนี้ ซึ่งยางพาราจะเป็นพืชสร้างเศรษฐกิจ และสร้างความสมดุลให้กับสภาพแวดล้อมได้
สำหรับสถานการณ์ยางพาราของไทยนั้น ล่าสุดรัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางที่ปรับตัวลดลง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ระบุในรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส4/65 ถึงราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.7
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 66 ได้รับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จัดทำรายละเอียดเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้การดำเนินการตามมติ กนย. ประกอบด้วย โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 โดยเป็นการประกันรายได้ให้ชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับ กยท. ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2565 จำนวน 1,604,379 ราย แบ่งเป็น เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้วพื้นที่รวม 18.18 ล้านไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน(ต.ค.–พ.ย.65)ภายใต้กรอบงบประมาณรวม 7,643 ล้านบาท พร้อมกันนี้มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ระยะที่ 2วงเงิน 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการของโครงการ 2 ปี โดยโครงการนี้รัฐบาลจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการโดยการชดเชยดอกเบี้ย ตามโครงการฯ 1 ปี โดยชดเชยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี