กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะไทยใช้จังหวะโครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกเขตยูโรโซนและเขตเชงเก้น ตั้งแต่ 1 ม.ค.66 ผลักดันส่งออกเครื่องปรับอากาศ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ยาง ข้าว อาหารทะเล เครื่องปรุงรส อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์ เข้าสู่ตลาด รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคในประเทศและจากนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปมากขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นางสาวฐะปะนีย์ เครื่องประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ ถึงผลกระทบและโอกาสที่โครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกเขตเขตยูโร (Eurozone) และเขตเชงเก้น (Schengen Area) อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ทำให้โครเอเชียเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 20 ของเขตยูโรโซน และลำดับที่ 27 ของเขตเชงเก้น
โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากโครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกเขตยูโรโซนและเขตเชงเก้นว่ามีการเปลี่ยนป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการ โดยเพิ่มเงินสกุลยูโร และยังคงปิดป้ายทั้งเงินสกุลคูน่าและยูโรจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 เพื่อให้ทราบราคาเดิม แต่จะซื้อขายเป็นเงินยูโรเท่านั้น และยังมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 700 ยูโรต่อเดือน เพิ่มขึ้น 12.5% โดยผลจากการปรับใช้เงินยูโรและการขึ้นค่าแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้าเพิ่มขึ้น 3-19% และธุรกิจบริการเพิ่ม 10-80% ซึ่งรัฐบาลโครเอเชียได้เข้ามาแก้ไขปัญหาในทันที ด้วยการสั่งให้กลับไปใช้ราคาในวันที่ 31 ธ.ค.2565 และหากมีการฉวยโอกาส จะดำเนินการตามกฎหมาย
สำหรับการเดินทางเข้าออกประเทศ ทูตพาณิชย์รายงานว่าเมื่อโครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น จึงจำเป็นต้องยกเลิกการตรวจเอกสารประจำตัว ณ จุดผ่านแดนทางบก ระหว่างชายแดนโครเอเชีย-สโลวีเนีย และโครเอเชีย-ฮังการี ตลอดจนด่านตรวจคนเข้าเมืองในท่าอากาศยานและท่าเรือ นานาชาติ ทำให้ผู้เดินทางเข้าออกโครเอเชีย ไม่ต้องเสียเวลาตรวจเอกสารประจำตัวที่จุดผ่านแดน ส่วนพลเมืองสหภาพยุโรปสามารถเดินทางข้ามพรมแดนโครเอเชียได้ โดยใช้เพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชนที่ออกโดยหน่วยงานรัฐของประเทศของตน ไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวจากนอกสหภาพยุโรปที่ต้องการขอวีซ่าระยะสั้นเพื่อมาเยือนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน สถานทูตและสถานกงสุลโครเอเชียทั่วโลกจะออกวีซ่าเชงเก้นให้ ซึ่งจะใช้เดินทางเข้าประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นอีก 26 ประเทศ และประเทศนอกความตกลงที่อนุโลมให้ใช้วีซ่าเชงเก้นที่ยังไม่หมดอายุเข้าประเทศได้ด้วย เช่น โรมาเนีย บัลแกเรีย เซอร์เบีย เป็นต้น
นายภูสิตกล่าวว่า เมื่อโครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นและเขตยูโรโซน คาดว่าเศรษฐกิจโครเอเชียจะมีเสถียรภาพมากขึ้น จากรายได้เข้าประเทศที่มากขึ้น การดึงดูดนักลงทุน และการเพิ่มกิจกรรมทางการค้าระหว่างประเทศจากประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นสกุลเงินหลักมากขึ้น โดยในเชิงการเมือง การขยายสมาชิกภาพเขตยูโรโซน จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในและนอกสหภาพยุโรป แต่ก็ต้องจับตาในเรื่องเงินเฟ้อ ที่จะมีผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและสภาพคล่องทางการเงินของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังซื้อของประชาชนในโครเอเชีย และภาคการท่องเที่ยว ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในโครเอเชียเพิ่มมากขึ้น เป็นโอกาสของผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทย ที่จะขยายการค้าเข้าสู่ตลาดโครเอเชีย โดยสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางและยางพารา ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ดีต่อสุขภาพ เครื่องปรุงรสอาหารไทย รวมถึงอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น