ครม.รับทราบ “ประกันรายได้ยางพารา” เฟส 4 วงเงินกว่า 7,643 ล้านบาท


วันที่ 21 ก.พ. 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย จะได้จัดทำรายละเอียดและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญ

กนย. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่ กนย. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ตังนี้

1. ขออนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4

1) เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงินรวมทั้งสิ้น 7,643,857,284.15 บาท

%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81 1
ครม.รับทราบ“ประกันรายได้ยางพารา” เฟส 4

2) เห็นชอบกรอบวงเงิน 7,566,857,284.15 บาท โดยใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายแทนรัฐบาลไปก่อน จำนวน 7,421,536,955.47 บาท และให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และปีถัด ๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป เพื่อรัฐบาลชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการโอนเงิน จำนวน 8,021,895 บาท และชดเชยต้นทุนทางการเงินของธนาคารประจำไตรมาส บวก 1 (ปัจจุบันอัตราต้นทุนเงินธนาคารประจำไตรมาสเท่ากับ 0.85) ภายในวงเงินไม่เกิน จำนวน 137,298,433.68 บาท ปีละ 1,600,000,000 บาท ยกเว้นปีที่ 5 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด

3) เห็นชอบค่าบริหารจัดการโครงการ จำนวน 77,000,000 บาท โดยให้ กยท. เสนอขอรับจัดสรรจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีบประมาณ 2566

4) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

2.ขออนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์

1) เห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการของโครงการ 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการ โดยมีระยะเวลาในการชดเชยดอกเบี้ย ตามโครงการฯ 1 ปี แต่ระยะเวลาชดเชยไม่เกินระยะเวลาดำเนินโครงการ

2) เห็นชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 604 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

2.1) งบประมาณชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 600 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท

2.2) งบประมาณค่าบริหารโครงการ 4 ล้านบาท

3) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

3. ขออนุมัติแผนปฏิบัติการด้านยางพารา พ.ศ. 2566-2580

1) อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566-2580) ตามที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ซึ่งมีการยางแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเสนอ โดยให้ใช้ชื่อ “แผนปฏิบัติการด้านยางพารา พ.ศ. 2566-2580”

2) มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย ปรับเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับข้อ 1) และรับข้อคิดเห็นที่ประชุมปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน โดยนำแผนปฏิบัติการด้านยางพารา พ.ศ. 2566-2580 ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

4. หลักเกณฑ์กำหนดอัตราภาษีที่ดินในการประกอบเกษตรกรรมสวนยางพาราตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง พ.ศ. 2562

มอบหมายการยางแห่งประเทศไทยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้และรายงานให้ กนย. ทราบต่อไป

5. การประกาศต้นยางพันธุ์ดีตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542

มอบหมายการยางแห่งประเทศไทยหารือกับกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้และรายงานให้ กนย. ทราบต่อไป

6. รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา บังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ในกลุ่มธุรกิจบริการอาหาร และกลุ่มการให้บริการทางการแพทย์

มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยเร่งด่วนและรายงานให้ กนย. ทราบต่อไป

7. การตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการสวนยางยั่งยืน

มอบหมายการยางแห่งประเทศไทย พิจารณาดำเนินการทบทวนองค์ประกอบคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราที่เกี่ยวข้องกับสวนยางยั่งยืนที่มีอยู่เดิมก่อนที่จะจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการสวนยางยั่งยืนไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน