นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 อนุมัติ 1,500,755,595.00 บาท ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรสมาชิก โดยเฉพาะกรณีหนี้ NPL และการซื้อทรัพย์คืน (NPA) โดยมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,148 ราย
ทั้งนี้ การได้รับงบประมาณจะทำให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีงบประมาณเพียงพอ สามารถดำเนินแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรสมาชิกและฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาเกษตรกรสมาชิกได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้อำนาจกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสามารถจัดการหนี้ของเกษตรกรกรณีบุคคล ค้ำประกันได้ รวมทั้งช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก ที่แตกต่างและไม่ซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐหรือธนาคารของรัฐ เช่น การจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรสมาชิก กรณีหนี้ NPL และการซื้อทรัพย์สินคืน (NPA) ซึ่งเมื่อบุคคลได้รับการจัดการหนี้เหล่านี้ จะต้องเข้าสู่แผนการฟื้นฟูอาชีพด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิให้ถูกต้อง รวมทั้งสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้ได้โดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรรม เป็นอาชีพของคนไทยมายาวนานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยประกอบอาชีพการเกษตร ผลิตผลการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มาสู่ประเทศเป็นลำดับหนึ่งมาช้านาน เศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับอาชีพการเกษตรเป็นสำคัญ
แต่ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง เกษตรกรส่วนมากเป็นผู้ยากจนต้องกู้ยืมเงินทุนมาใช้ในการประกอบอาชีพและเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว จึงทำให้เกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของภาครัฐและเอกชน ไร้อำนาจการต่อรอง ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาผลิตผลเกษตรกรรม
หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรมักเข้ามากรุงเทพฯ มาชุมนุมเสนอข้อเรียกร้อง เสนอแนวทางการแก้ปัญหาภาคเกษตร เรียกร้องให้แก้ปัญหาหนี้สิน แต่ในที่สุดพวกเขาก็สรุปบทเรียนว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่เข้ามาเรียกร้องกับรัฐบาลนั้นแก้ปัญหาได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เกษตรกรก็เลยคิดว่าควรจะต้องมีกฎหมายมากำกับมาแก้ปัญหา จึงเกิดกฎหมาย “พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542” ขึ้นมา
ทั้งนี้ตามกฎหมายให้กองทุนไปชำระหนี้แทนเกษตรกร กองทุนก็เอาเงินไปปิดบัญชีหนี้แล้วโอนหลักทรัพย์ที่เกษตรกรนำไปค้ำประกันกับ ธ.ก.ส. มาเป็นของกองทุนฯ ไม่ใช่การจำนองหลักทรัพย์ แต่หลักทรัพย์กลายเป็นของกองทุนเลย แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระในรูปแบบการเช่าซื้อ ซึ่งดอกเบี้ยจะถูกกว่าผ่อนกับธนาคารเจ้าหนี้เดิม และเกษตรกรจะไม่สูญเสียที่ดิน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ไม่ให้มีการยึดที่ดิน ให้ผ่อนชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดแล้วจึงได้โฉนดที่ดินกลับคืน ถ้ารุ่นนี้ผ่อนไม่หมดก็ตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานมาชำระต่อจนกว่าจะหมด
นอกจากนี้ในทางปฏิบัติก่อนจะขายและโอนหนี้ ธนาคารเจ้าหนี้จะต้องตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ตัดค่าปรับทิ้งทั้งหมด และลดเงินต้นลงครึ่งหนึ่ง หมายความว่าหนี้ที่เกษตรกรต้องจ่ายก็ลดลงมากกว่าครึ่ง ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปหมดแล้วว่าการโอนหนี้จากเจ้าหนี้มาไว้กับกองทุนฯ ให้ตัดดอกเบี้ยและลดเงินต้นครึ่งหนึ่ง ซึ่งธนาคารก็ไม่ได้เสียเปรียบเพราะว่าหนี้สินที่เกษตรกรชาวนามีอยู่ ธนาคารเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้ว