ส้มแม่สินเริ่มมีการเพาะปลูกตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 เริ่มจากมีผู้นำพันธ์ุส้มเขียวหวานมาปลูกบริเวณแม่น้ำยม เนื่องจากเป็นที่ราบ และลำห้วยแม่สินไหลผ่านบนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ จากนั้นขยายพันธุ์ โดยใช้กิ่งตอนจากต้นที่มีลักษณะดี ให้ผลผลิต รสชาติที่ดี และส้มเขียวหวานเริ่มมีการปรับตัวเข้ากับสภาพของพื้นที่ทำให้ส้มเขียวหวานมีสีเปลือกที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล รวมถึงอิทธิพลของน้ำพุร้อน ทำให้เนื้อมีสีส้มอมทอง รสชาติหวานฉ่ำเข้มข้น
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงใหญ่ส้มแม่สินพัฒนา และมอบใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรกร หรือ GAP จำนวน 10 ราย พร้อมด้วย นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม, นายสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการ ส.ป.ก., ผู้ตรวจราชการกรม, ผู้อำนวยการสำนัก / กอง / ศูนย์, ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภาคเหนือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ โดยมีนายสมพงษ์ ปลาป๊อก ผู้นำเกษตรกรแปลงใหญ่ส้มแม่สินพัฒนา ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร ส.ป.ก. ณต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566
อำเภอศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ตาม พรฎ. ประมาณ 347,157 ไร่ ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์แล้ว จำนวน 10,458 ราย 14,062 แปลง เนื้อที่ประมาณ 118,765 ไร่
ในส่วนของ ต.แม่สิน จัดที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ จำนวน 3,747 ราย 5,259 แปลง เนื้อที่45,386 ไร่ ซึ่งตำบลแม่สินประกอบอาชีพเกษตรกรรมส่วนใหญ่ ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ส้มแม่สินมะนาว ทุเรียน และยางพารา
สำหรับพื้นที่ปลูกส้มแม่สินในเขตปฏิรูปที่ดิน ประมาณ 23,842 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิตประมาณ 15,250 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ทั้งปี ประมาณ 4,500 – 6,400 กก./ไร่ เฉลี่ยต้นละ 80 กก. (1 ไร่ 80 ต้น) รวม 76,250 ตัน สามารถจำหน่ายเป็นผลสด (เกรดเบอร์ 00-2) ประมาณ 2,500 กก./ไร่ รวม 38,125 ตัน
นอกจากนี้ ส้มแม่สินยังได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 245 แปลง เนื้อที่ 2,568 ไร่ และสินค้าอัตลักษณ์ GI จำนวน 146 แปลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง อยู่ได้ อยู่ดี และมีความสุขในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป