กรณีสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือที่ สยท. 009/2566 ต่อรัฐบาลลงวันที่ 31 มกราคม 2566 เพื่อขอให้บรรจุเพิ่มยางพาราพืชเศรษฐกิจไว้ในแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566-2570 สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมีเป้าหมายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและดำเนินการได้ทันที ซึ่งประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์
ได้แก่ 1.ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูงในพื้นที่จังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา
2.ประมงเพาะเลี้ยง เน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และระยอง
3.พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพเน้นยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้าในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
4.พืชสมุนไพร เน้นการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี
และ 5.เกษตรมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
โดยทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยขอเสนอให้ยางพาราอยู่ในเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ทั้งนี้เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศ ทั้งในรูปผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่มีการแปรรูปจากวัตถุดิบน้ำยางจากต้นยาง เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ถือว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 555,401 ล้านบาทต่อปี (กรมวิชาการเกษตร 2565)
และพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกมีจำนวนมากเป็นลำดับ 2 รองจากภาคใต้ และอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ ใน 5 คลัสเตอร์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหากได้บรรจุยางพาราเป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 จะช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรและมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
ล่าสุด ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่มาเป็นอันดับ 1 ของไทยทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จึงมีความมุ่งหวังให้ยางพาราเป็นคลัสเตอร์ที่ 6 ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ประกาศเริ่มใช้ในปี 2561 Eastern Economic Corridor (EEC) เพราะจากที่ อีซีซี.มีอาหารแปรรูปจำนวน 5 คลัสเตอร์ ตามมติ ครม.วันที่ 9 สิงหาคม 2565 มีผลไม้ มัน สมุนไพร ประมง เกษตรสูง แต่กลับไม่มียางพารา ทั้งที่ยางพาราไทยเป็นสินค้าสร้างรายได้อันดับ 1 ของประเทศ จึงได้ท้วงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ควรจะมีเรื่องยางพาราเป็นคลัสเตอร์ที่ 6 และนายกรัฐมนตรีรับปากให้ยางพาราเป็นคลัสเตอร์ที่ 6 แล้ว
ดร.อุทัย กล่าวว่า ยางพาราสินค้าสินค้าเกษตรที่สามารถจะพัฒนาเพิ่มมูลค่าได้ปริมาณมากจึงต้องเชิญนักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุน เช่น รายละ 10 ล้านบาท จำนวน 10 ราย เป็น 100 ล้านบาท และนักลงทุนจำนวนหลาย ๆ รายที่เข้ามาดำเนินการก็จะมหาศาลและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอีอีซี.จะมีสิทธิประโยชน์ เช่น สิทธิภาษีส่วนบุคคล 20 ปี ภาษีบีโอไอ 13 ปี