พาณิชย์ เคาะส่วนต่างข้าว งวดที่ 19 ชดเชย 2 ชนิด “หอมมะลินอกพื้นที่-ข้าวเจ้า” เงินเข้ากระเป๋า 22 ก.พ.นี้

“พาณิชย์”เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 19 จ่ายชดเชย 2 ชนิด “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่-ข้าวเปลือกเจ้า” เงินเข้าบัญชี 22 ก.พ.นี้ ส่วนอีก 3 ชนิดไม่ต้องจ่าย เหตุข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูกาล ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ราคาทะลุเพดานประกัน       

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 งวดที่ 19 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 11-17 ก.พ.2566 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเจ้า ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่ต้องจ่าย เพราะสิ้นสุดฤดูเก็บข้าว ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย

%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%94 19



โดยข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,632.23 บาท ชดเชยตันละ 367.77 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,884.32 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,090.32 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 9,899.37 บาท ชดเชยตันละ 100.63 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 3,018.90 บาท ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,460.47 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาล

17022023161141 0001

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 22 ก.พ.2566 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชยตามข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรงวดนี้ จำนวน 6,412 ครัวเรือน

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมค้าข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า ราคาข้าวเริ่มปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน จากการชะลอของตลาดส่งออก หลังมีการส่งมอบในช่วงเดือนม.ค.2566 สูงถึงประมาณ 0.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 40% และขณะนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวข้าวรอบที่ 1 เกือบหมดแล้ว อยู่ระหว่างการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ยังคงเหลือในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งฤดูกาลเพาะปลูกจะช้ากว่าภาคอื่น ๆ อยู่อีกประมาณ 60,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 2% ของเกษตรกรที่เพาะปลูกเท่านั้น
         

สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างในงวดที่ 1-18 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วจำนวน 2.596 ล้านครัวเรือน จำนวน 7,847.73 ล้านบาท และการช่วยเหลือไร่ละพันบาท เกษตรกรได้รับเงินแล้วกว่า 4.624 ล้านครัวเรือน จำนวน 53,896.82 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป
         

อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะเพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569

ส่วนกรณีโอนเงินไม่สำเร็จจากปัญหาด้านบัญชีเงินฝากนั้น ธ.ก.ส. ได้มีการแก้ไขปัญหาไประดับหนึ่งแล้ว ทำให้ยอดการโอนเงินให้เกษตรกรไม่สำเร็จลดลง แต่ขอให้เกษตรกรตรวจสอบบัญชีเงินฝากและติดต่อกับ ธ.ก.ส เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการรับเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการ เช่น กรณีปัญหา ชื่อ–สกุล ไม่ตรง บัญชีปิด บัญชีถูกอายัด หรือหากยังไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. ขอให้เกษตรกรติดต่อเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ เพื่อ ธ.ก.ส. จะได้ดำเนินการโอนเงินให้แก่เกษตรกรได้ต่อไป