กาแฟเงินล้านแห่งหมู่บ้านสะเกี้ยง จังหวัดน่าน

พ่อพัฒนพงษ์ หรือ นายพัฒนพงษ์ ทรัพย์ทวีศิริ ประธานกลุ่มกาแฟบ้านสะเกี้ยง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เปิดเผยว่า เป็นคนบ้านสะเกี้ยงมาตั้งแต่กำเนิด ต้นตระกูลเป็นคนเก่าแก่ของหมู่บ้าน จึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านมาตลอดทุกช่วงเวลา และเดิมทีผมเองก็มีวิธีการทำมาหากินเหมือนกับคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน คือการทำข้าวไร่ โดยการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์สลับกันไปบนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา “ก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ปีไหนไม่พอกินก็ต้องซื้อข้าวกิน”

329091538 1153707238666854 5741760100272718169 n 1
นายพัฒนพงษ์ ทรัพย์ทวีศิริ

“ผมตกอยู่ในสภาพแบบนั้น มาร่วม 20 ปี จนกระทั่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืนสานแนวพระราชดำริ เข้ามาให้ความรู้และชักชวนชาวบ้านทำการเกษตรแนวทางใหม่ เมื่อปี 2553 วิถีชีวิตและอาชีพของพ่อก็เปลี่ยนไป เพราะพ่อเริ่มเปลี่ยนพื้นที่ไร่เป็นนาขั้นบันได และบริหารจัดการพื้นที่ส่วนอื่น ๆ เพื่อปลูกข้าว กล้วย และกาแฟ ผสมผสานกัน”

329508730 541796947928640 6061752384496360034 n
ไร่กาแฟ

“ปีแรกที่กาแฟเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ผมได้เงินเกือบ 70,000 บาท ประจวบพอดีกับลูกสาวเรียนจบจากลำปางและอยากกลับมาอยู่บ้าน พ่อเลยใช้เงินที่ได้จากการขายกาแฟนี้ เปิดร้านขายของชําให้ลูกเพื่อให้มีงานทำที่บ้าน พอมาปีที่สอง กาแฟทำรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่า ได้เงินกว่า 150,000 บาท พ่อเลยหยุดทำข้าว เพราะที่ผ่านมาทุก ๆ ปี ข้าวที่ปลูกก็ไม่เคยพอกิน ต้องซื้อตลอด ถ้าจะซื้อกินทั้งหมดพ่อก็ไม่ห่วง เพราะคำนวณแล้วรายได้จากกาแฟสามารถเอาไปเฉลี่ยกันได้ เลยตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่นาทั้งหมดเป็นสวนกาแฟ”

329283362 744478290267742 6549910966680630133 n
ไร่กาแฟ

พ่อพัฒน์พงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การปลูกกาแฟให้ได้ผลไม่มีขั้นตอนไหนไม่สำคัญ ตั้งแต่เลือกพื้นที่ การขุดหลุม และการดูแลเอาใจใส่ทุก ๆ อย่าง อย่างพื้นที่ปลูกระดับความสูง ถ้าจะให้ดีต้องไม่ต่ำกว่า 800 เมตร บ้านสะเกี้ยงสูงประมาณ 1,200 เมตร ซึ่งเหมาะมาก หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของการปลูกกาแฟ คือ วิธีการใส่ปุ๋ย และการดูแลกาแฟไม่ให้เกิดโรค ทุกวันนี้ใช้วิธีผสมปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีเข้าด้วยกัน โดยใช้ปุ๋ยคอก 1 กระสอบ คลุกเคล้ากับปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 จำนวน 1 กิโลกรัม ส่วนอีกสูตรหนึ่งคือ ใช้ปุ๋ยคอกนำมาหมักด้วยน้ำผสมผง พด.1 ซึ่งเห็นผลดีมาก”

พ่อพัฒน์พงษ์ เล่าต่อไปว่า “ทุกวันนี้พ่อมั่นใจในเส้นทางที่เลือกเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าทำให้ชีวิตและครอบครัวมั่นคงได้ และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เริ่มหันมายึดอาชีพปลูกกาแฟกันกว่า 100 คนแล้ว สร้างรายได้เข้าหมู่บ้านได้กว่าล้านบาท”

ปัจจุบัน พ่อพัฒน์พงษ์ เป็นประธานกลุ่มกาแฟบ้านสะเกี้ยง มีหน้าที่ประสานงานทุกเรื่องที่มีคนเข้ามาติดต่อเกี่ยวกับการปลูกกาแฟของสมาชิก

“ทุกวันนี้ก็คอยประสานงานเรื่องต่าง ๆ ให้เพื่อนสมาชิก การทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ทำให้เราได้รับความรู้ใหม่ ๆ มีวิธีการปลูกการดูแลกาแฟที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่มันจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ว่า เกษตรกรให้ความร่วมมือเปิดรับที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือยอมพัฒนาตนเองให้เกิดความเชี่ยวชาญมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ เดี๋ยวนี้ลูกหลานของหมู่บ้าน ต่างก็อยากกลับมาทำมาหากินในหมู่บ้าน เพราะเขาเห็นกาแฟว่ามันไปได้และยังมีอนาคตที่สามารถพัฒนาไปอีกได้ไกล” พ่อพัฒน์พงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สําคัญของโลกชนิดหนึ่ง เกษตรกรชาวไทยปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจทั้งภาคเหนือและภาคใต้ โดยภาคเหนือปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า (Arabica) และภาคใต้ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า (Robusta) กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้แพร่กระจายไปตามแหล่งเพาะปลูกต่าง ๆ บนที่สูง เกษตรกรปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจทั้งภาคเหนือและภาคใต้

ประเทศไทยสามารถปลูกกาแฟได้เป็นอันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งปลูกที่เหมาะสมสําหรับกาแฟอาราบิก้า คือ พื้นที่ปลูกตั้งแต่ละติจูดที่ 17 องศาเหนือขึ้นไป มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป มีความลาดเอียง ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะดินที่เหมาะสม คือดินมีความอุดมสมบูรณ์ชั้นดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร มีความเป็นกรดด่าง 5.5-6.5 และระบายน้ำได้ดี

สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมคือมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง15 – 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แหล่งน้ำที่เหมาะสม คือต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ปริมาณฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี มีการกระจายของฝน 5-8 เดือน มีแหล่งน้ำสะอาดและมีปริมาณพอที่จะให้น้ำได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง ลักษณะพันธุ์ที่ดี ควรมีลักษณะพันธุ์ต้านทานต่อโรคราสนิม มีลักษณะต้นเตี้ย ข้อสั้น ผลผลิตสูงสม่ำเสมอ