แม้ตอนนี้ จะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล แต่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ยังเดินหน้า “ขับเคลื่อน” การทำงาน และมีนโยบายให้ใช้ “อมก๋อย โมเดล” เป็นเครื่องมือ ในการดูแล “พืชผลทางการเกษตร” เหมือนเดิม
“อมก๋อย โมเดล” เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ “กระทรวงพาณิชย์” นำมาใช้ดูแล “สินค้าเกษตร” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
หลักการของอมก๋อย โมเดล ก็คือ การสร้าง “หลักประกัน” ให้กับเกษตรกร ว่า “ผลผลิต” ที่ออกมา จะมี “ตลาดรองรับ” และมี “ราคา” ที่จะขายได้แน่นอน
โดย “วิธีการดำเนินการ” กรมการค้าภายในจะเข้าไป “เชื่อมโยง” ผู้ซื้อและผู้ขาย ให้มาเจอกัน แล้วตกลงกันว่า จะรับซื้อ “ผลผลิต” ในปริมาณเท่านี้ ใน “ราคา” เท่านี้ และส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อในราคา “นำตลาด” เพื่อเป็น “แรงดัน” ให้ราคาตลาดในภาพรวม ปรับตัวสูงขึ้น
เริ่มต้นปี 2566 กรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ประเดิมขับเคลื่อนอมก๋อย โมเดล โดยจับมือ “เครือข่ายพันธมิตร” เข้าไปรับซื้อ “พืช 3 หัว” ได้แก่ “หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม” ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูการผลิต
ปีนี้ พืช 3 หัว คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตรวม 257,135 ตัน เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565 แบ่งเป็น หอมหัวใหญ่ 36,479 ตัน หอมแดง 155,765 ตัน และกระเทียม 64,891 ตัน โดยหอมหัวใหญ่และกระเทียมจะออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนก.พ.-เม.ย.2566
การรับซื้อในปีนี้ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้นำเครือข่ายภาคเอกชน 16 ราย ประกอบด้วย ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ตลาดกลาง เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดศรีเมือง และตลาดล้านเมือง ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เดอะมอลล์ และท็อปส์ สถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น พีที PTT Station บางจาก และเชลล์ เข้ารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร23 กลุ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และศรีสะเกษ ปริมาณรับซื้อรวม 22,800 ตัน หอมหัวใหญ่ 7,300 ตัน หอมแดง 7,500 ตัน กระเทียม 8,000 ตัน รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้จัดให้มีพิธีลงนามสัญญาข้อตกลงมาตรฐานและบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การรับซื้อพืช 3 หัว ภายใต้โครงการ “ขับเคลื่อนการบริหารจัดการพืช 3 หัว อมก๋อยโมเดล @เชียงใหม่” ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา
หลังจากนั้น กรมการค้าภายในยัง “ไม่หยุด” เพียงเท่านี้ ได้เดินหน้าผนึกกำลังกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ และศรีสะเกษ ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อหอมหัวใหญ่เชียงใหม่ และหอมแดงศรีสะเกษ ปริมาณรวม 100 ตัน ในราคานำตลาด
คราวนี้ นำผู้ประกอบการไปซื้อจากสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จำกัด อ.แม่วาง ปริมาณ 20 ตัน ราคากิโลกรัม (กก.) ละ 15 บาท และซื้อจากกลุ่มหอมแดงแปลงใหญ่ ต.ไผ่ อ.ราษีไศล โดยรับซื้อหอมแดงมัดจุกแห้งขนาดกลาง-ใหญ่ ปริมาณ 80 ตัน ในราคากก.ละ 40–50 บาท
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน บอกว่า จะประสานนำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อเรื่อย ๆ เพราะปีนี้ กำลังซื้อปลายทาง ทั้งร้านอาหาร โรงแรม สถานบริการต่าง ๆ กลับมาคึกคัก จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการพืช 3 หัวเพิ่มมากขึ้น และมั่นใจว่าราคาจะดีตลอดทั้งฤดูกาลผลิตอย่างแน่นอน
ส่วนผลจากการประสานผู้ประกอบการเข้าไปซื้อพืช 3 หัว ตั้งแต่ต้นฤดูกาล ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดย “หอมแดงสด” ปีนี้ อยู่ที่ 12 บาทต่อกก. สูงกว่าปีที่แล้วที่ 9.5 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้น 26% ส่วน “หอมหัวใหญ่” ปีนี้อยู่ที่ 15 บาทต่อกก. สูงกว่าปีที่แล้วที่ 12 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้น 22%
ไม่เพียงแค่นั้น กรมการค้าภายในยังได้ติดตามสถานการณ์การผลิต ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ และเตรียมพร้อมดำเนินการรับมือด้านปริมาณและราคาทันที หาก “เห็นแวว” ว่า จะมีปัญหาเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้นำพืช 3 หัว ไปจำหน่ายในโครงการ “พาณิชย์…ลดราคา Grand Sale ทั่วไทย” ในราคาพิเศษ เพื่อช่วย “ระบายผลผลิต” ให้กับเกษตรกร และช่วยลดภาระ “ค่าครองชีพ” ให้กับผู้บริโภคที่จะซื้อไปประกอบอาหาร
โดยจะนำไปขายในโครงการพาณิชย์ลดราคา ทั้งหมด 274 ครั้ง แยกเป็นในกรุงเทพฯ 5 จุด และต่างจังหวัด 269 จุด
จากนโยบายหลัก “อมก๋อย โมเดล” ที่ลงสู่ภาคปฏิบัติอย่างทันเหตุ ทันการณ์ ทำให้สถานการณ์พืช 3 หัวปีนี้ มีราคาดีตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต
และเท่าที่ทราบมา ไม่ใช่แค่พืช 3 หัว ที่จะใช้อมก๋อย โมเดล เข้าไปดู แต่จะใช้กับพืชเกษตรชนิดอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่รอให้มีปัญหาผลผลิต “ล้นตลาด” หรือ “ราคาตกต่ำ” ก่อน ถึงจะเข้าไปช่วย จะช่วยตั้งแต่ช่วงต้นฤดู หาตลาดให้ล่วงหน้า กำหนดราคารับซื้อล่วงหน้า
ที่มา-กระทรวงพาณิชย์