วันนี้กระทรวงพาณิชย์ มีสินค้าในกลุ่ม BCG ดาวรุ่งอีกหนึ่งรายการ มาแนะนำ คือ “บรรจุภัณฑ์” ที่ผลิตจากทางปาล์มน้ำมัน ในชื่อแบรนด์ Palm Packaging ซึ่งเป็นฝีมือการผลิตของหนุ่มชาวใต้ ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวสวนปาล์มในจังหวัดพัทลุง ที่ได้มองเห็นโอกาสจากการนำวัสดุเหลือทิ้งในสวนปาล์มมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลิตเป็นถุงกระดาษจากทางปาล์มน้ำมัน
ปกติทางปาล์มน้ำมัน ถือเป็นของเหลือทิ้งในส่วนปาล์ม แต่ทางกลุ่มหนุ่มชาวใต้ ได้มองเห็นโอกาส จึงได้คิดค้นที่จะนำทางปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นกระดาษ และสร้างเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ที่นำทางปาล์มน้ำมันมาขาย และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ที่เข้ามาช่วยในการผลิตสินค้า ที่สำคัญ ยังช่วยลดการนำเข้าเยื่อกระดาษ ทำให้ไม่ต้องเสียเงินตราต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง ได้เข้าไปช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการผลิตและพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด และยังได้แนะนำช่องทางการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่องทางหลากหลาย ทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ การเข้าร่วมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการนำสินค้าจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการขาย และเพิ่มรายได้
นายชนาธิป หวังปาน ประธานกรรมการ บริษัท ปาล์มแพ็คเกจจิ้ง จำกัด กล่าวว่า ไอเดียการทำถุงกระดาษจากทางปาล์มน้ำมัน เกิดขึ้นจากที่บ้านทำอาชีพทำสวนปาล์มอยู่แล้ว และเห็นว่ามีทางปาล์มเหลือทิ้งจำนวนมาก โดยปกติ ก็จะเอาไปทำปุ๋ย แต่ใช้เวลานาน และยังมีมากเกินจำเป็น จึงสนใจที่จะเปลี่ยนจากขยะเหลือใช้ให้เกิดมูลค่า และพบงานวิจัยการพัฒนาวัสดุเชิงประกอบชีวภาพจากเส้นใยปาล์มน้ำมันกับยางธรรมชาติเพื่องานบรรจุภัณฑ์ทรงรูปสูง ซึ่งเป็นงานวิจัยของอาจารย์สมพร ชัยอารีย์กิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงศึกษาหาข้อมูลเพิ่มและลงมือทำ รวมทั้งแก้ไขจุดบกพร่อง จนทำกระดาษจากเส้นใยธรรมชาติต้นแบบออกมาได้ ต่อมาได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น โครงการ U2T แฮกกาธอน มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด
โดยปัจจุบันได้ร่วมกับเพื่อนอีก 8 คน ตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาดำเนินการ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยเกษตรกร ได้ช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้ และช่วยลดขยะชีวมวล ซึ่งก็คือ ทางปาล์มน้ำมัน และยังได้เพิ่มมูลค่าให้กับทางปาล์มน้ำมันด้วย
สำหรับบรรจุภัณฑ์ถุงกระดาษที่ผลิตได้ มีกลุ่มลูกค้าอยู่ 4 กลุ่ม คือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม การจัดงานสัมมนา เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และร้านยาและเครื่องสำอาง และมีแผนที่จะขยายไลน์การผลิตสินค้าไปสู่การทำจานกระดาษจากทางปาล์มน้ำมัน หนังเทียมจากทางปาล์มน้ำมัน และกระดาษห่อยืดอายุผักและผลไม้ด้วยซิลเวอร์นาโน เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ทางปาล์มน้ำมัน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มและคนในชุมชน ที่จะมีส่วนร่วมในการผลิตสินค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุเหลือทิ้งในสวนปาล์มมีคุณค่าทางอาหารต่ำกว่าหญ้าและใกล้เคียงกับฟางข้าวเช่นเดียวกับยอดอ้อย ปกติแล้วเกษตรกรจะนำทางปาล์มน้ำมันไปใช้เลี้ยงสัตว์ มีอยู่ 4 รูปแบบ ได้แก่
1.ให้กินในรูปทางปาล์มสด โดยนำมาแขวนให้กินในคอกหรือนำมาหั่นใช้เลี้ยงสัตว์และเสริมด้วยอาหารข้น หรือใบพืชตระกูลถั่วที่มีโปรตีนสูง
2.ให้กินในรูปทางปาล์มหมัก การทำทางปาล์มน้ำมันหมักใช้หลักการเหมือนการผลิตพืชหมักทั่ว ๆ ไป มีการเสริมด้วยกากน้ำตาลระดับร้อยละ 5 และระดับที่เหมาะสมในการใช้ทางปาล์มหมักเลี้ยงสัตว์พบว่า สามารถใช้ใบทางปาล์มหมักเลี้ยงโคเนื้อได้ถึงร้อยละ 50 และสามารถใช้เลี้ยงแพะเนื้อได้ถึงร้อยละ 30 โดยใช้ร่วมกับอาหารข้นในระดับที่เหมาะสม
3.ให้กินในรูปทางปาล์มหมักยูเรีย โดยวิธีนำทางปาล์มมาหมักร่วมกับปุ๋ยยูเรีย
4.ให้กินในรูปอาหารผสมเสร็จ โดยวิธีการนำทางปาล์มสดหรือหมักมาผสมร่วมกับวัตถุดิบแหล่งโปรตีน แหล่งพลังงาน และแหล่งแร่ธาตุ ร่วมกันในสัดส่วนที่เหมาะสมโดยคำนวณให้มีคุณค่าทางโภชนะให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ระยะของการให้ผลผลิต