วันที่ 6 ก.พ.66 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2566 โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและเร่งดำเนินการหาแนวทางแก้ไขหลังรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ประกาศกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ ในกลุ่มธุรกิจบริการอาหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา และในกลุ่มให้บริการทางการแพทย์ ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการถุงมือยางธรรมชาติ ด้าน กยท. ได้รับทราบและมีความห่วงใยในปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเร่งดำเนินการดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงผู้ผลิต โดยในปี 2565 ประเทศสหรัฐอเมริกานำเข้าถุงมือยางคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3,275ล้านเหรียญ โดยนำเข้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 738 ล้านเหรียญ เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศมาเลเซีย
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจถึงประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยของการใช้ถุงมือยางธรรมชาติ รวมถึงกำหนดแนวทางขยายการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติ ทั้งนี้ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกเหนือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ คณะกรรมการอาหารและยา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย เป็นต้น เพื่อเตรียมหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตสถานการณ์ในระบบการผลิตยางธรรมชาติได้ ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้จะร่วมกันกำหนดแนวทางสร้างการรับรู้ ความเข้าใจถึงประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยของการใช้ถุงมือยางธรรมชาติ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการขยายการส่งออกและแก้ไขอุปสรรคการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติโดยเร่งด่วนต่อไป
“กยท. มีมาตรการขับเคลื่อนในเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และร่วมสนับสนุนทุนต่อยอดการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง Low – protein โดย MTEC ทั้งนี้ ทางการแพทย์ยืนยันว่าถุงมือยางธรรมชาติมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ในงานศัลยกรรมผ่าตัด ไม่สามารถใช้ถุงมือสังเคราะห์ทดแทนได้ นอกจากนี้ ถุงมือยางธรรมชาติยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะมีจุดแข็งในเรื่องของการย่อยสลายได้ ช่วยลดภาวะโลกร้อน จึงเป็นโอกาสดีในการประชาสัมพันธ์ข้อดีและความปลอดภัยในการใช้ถุงมือยางธรรมชาติ” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว
ทั้งนี้ กยท.ยืนยันว่าแนวโน้มการใช้ถุงมือยางยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ธุรกิจขาลงแต่อย่างใดซึ่งปัจจุบันยังพบการใช้มากที่สุดทั้งในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตที่มีผลผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมถุงมือยางรายใหญ่ โดยตลาดส่งออกยังสะท้อนว่าไทยมีแนวโน้มขยายตัว และเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกยางธรรมชาติ ไปยังตลาดใหม่ คือ จีนที่ไทยมีมูลค่าส่งออกในปี64 รวม 4,110 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 43.59% และอินเดีย ที่ไทยมีมูลค่าการส่งออก ในปี 2564 ที่ 1,460 ล้านบาท ดังนั้นอัตราการขยายตัวมีมากถึง 39.10%
“กยท.จะเร่งหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ยางของไทยมากขึ้น โดยคุณสมบัติของถุงมือยางธรรมชาตินั้นสามารถย่อยสลายได้ภายใน 10 ปี ซึ่งเร็วกว่าเมื่อเทียบกับถุงมือยางสังเคราะห์ ที่ใช้เวลากว่า 100 ปี อีกทั้งยางพารายังช่วยเรื่องคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ ยิ่งเป็นโอกาสสร้างมูลค่ายางและสร้างแต้มต่อตลาดใหม่” ผู้ว่าการ กยท.กล่าว