เคาะแล้ว ประกันรายได้ข้าวงวด 17 ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่รับส่วนต่างสูงสุดครัวเรือนละ 5,459.04 บาท เงินเข้าบัญชีภายใน 8 ก.พ.นี้ ชาวนาได้รับเงินชดเชย 4,678 ครัวเรือน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ข้าว สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 4 โดยราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 17 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 28 ม.ค. – 3 ก.พ.66 ดังนี้

1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว

2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,658.81 บาท ชดเชยตันละ 341.19 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,459.04 บาท

3) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,150.26 บาท ไม่ต้องชดเชยเนื่องจากราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าเป้าหมาย

4) ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 10,040.01 บาท ไม่ต้องชดเชยเนื่องจากราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าเป้าหมาย

5) ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,555.44 บาท ไม่ต้องชดเชยเนื่องจากราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าเป้าหมาย

ซึ่งราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาประกันรายได้เกือบทุกชนิดข้าว โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 8 ก.พ. 2566 มีเกษตรกรได้รับชดเชยตามข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรงวดนี้ จำนวน 4,678 ครัวเรือน

466600

“นโยบายสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร ขณะนี้ตนได้ลงนามเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วคือ ประกันรายได้ข้าว ปี 4 มีทั้งหมด 33 งวด ขณะนี้จ่ายเงินส่วนต่างแล้ว 16 งวด และโครงการประกันรายได้ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ได้ลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว ส่วนยางพาราได้ผ่านความเห็นชอบที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบดำเนินการเสนอประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางปี 4 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยเห็นชอบวงเงินเบื้องต้นประมาณ 7,600 ล้านบาท และเห็นชอบสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการกิจการไม้พาราและผลิตภัณฑ์ในวงเงิน 20,000 ล้านบาทในช่วงปี 66-67 เมื่อผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วจะได้ดำเนินการโอนเงินส่วนต่างถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางต่อไปโดยเร็วที่สุด” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

466616

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างเช่นยางพารา ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ปีที่ 4 ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันรายได้ยางพารา ปีที่ 4 แล้ว โดยเห็นชอบวงเงินเบื้องต้นประมาณ 7,600 ล้านบาท และเห็นชอบสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการกิจการไม้พาราและผลิตภัณฑ์ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และเมื่อผ่าน ครม. แล้ว จะมีการดำเนินการโอนเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรต่อไป

ทั้งนี้ กำหนดราคาประกันรายได้ผลผลิตยางแต่ละชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับรายละเอียดโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 4 หรือปี 4 นั้น ประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิ.ย.2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย) คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่ ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน (ต.ค.-พ.ย.2565)งบประมาณโครงการรวม 7,643,857,284.15 บาท

สำหรับโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน นายจุรินทร์ ได้ลงนามเสนอ ครม.ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา แต่เกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบ เพราะขณะนี้ ราคาพืชทั้ง 3 ชนิด สูงกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้