ในที่สุดเข้าสู่ภาวะปกติเป็นที่เรียบร้อยสำหรับพืชเศรษฐกิจอย่าง”ปาล์มน้ำมัน”ที่เจอสารพัดปัญหาหลังช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ทั้งโรงงานสกัดฯและลานเทต่างหยุดรับซื้อ จนผลผลิตล้นทะลักหน้าโรงงานในหลายจังหวัดส่งผลให้ราคาร่วงทะลูดจากผลผลิตไม่ได้คุณภาพ
ร้อนถึงเจ้ากระทรวง”จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม
ปฎิเสธไม่ได้ว่าคนสำคัญอยู่เบื้องหลังความสำเร็จงานนี้คือรองอธิบดีกรมการค้าภายใน ”อุดม ศรีสมทรง” ผู้ปิดทองหลังพระ ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ”วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้เข้ามาดูแลปัญหาเดินหน้าอย่างเต็มสูบ
ใช้คนถูกกับงานโบราณว่า การมอบหมายให้เขาแก้ปัญหาถือว่าเป็นการใช้คนไม่ผิดฝา ผิดตัว เพราะหากย้อนเส้นทางชีวิตราชการของรองอุดม ศรีสมทรง แล้ว ส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ ตั้งแต่เริ่มราชการจนก้าวขึ้นมารับตำแหน่งพาณิชย์จังหวัดหลายจังหวัด ก่อนก้าวสู่รองอธิบดีในที่สุด
ฉะนั้นปาล์มน้ำมัน จึงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่เขารู้จักดีและยังรู้จักมักคุ้นกับผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานสกัดฯ เจ้าของลานเท ตลอดจนแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่เป็นอย่างดีและได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาพืชน้ำมันชนิดนี้จนสำเร็จมานับไม่ถ้วน ทำให้เขาได้รู้ลึกถึงปัญหาในทุกห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ในฐานะกูรูปาล์มน้ำมันที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง
จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมหลังมีข่าวเกิดวิกฤติปาล์มน้ำมันล้นทะลักหน้าโรงงานสกัดเพียงวันเดียว รองอธิบดีอุดม(ศรีสมทรง)รีบบึ่งลงพื้นที่ในจังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ในทันทีทั้ง กระบี่ ตรังและสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและรายงานตรงต่ออธิบดีกรมการค้าภายในทันที
จะเห็นว่าช่วงนั้นรองอธิบดีอุดม(ศรีสมทรง)ขึ้นลงกรุงเทพฯ-ภาคใต้บ่อยครั้งและยังใช้พื้นที่สวนปาล์มน้ำมันเป็นห้องทำงานสัญจรแทนห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงทำให้เขาได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกในทุกกระบวนการผลิต ส่งผลทำให้มีการใช้มาตรการต่าง ๆ เข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
แม้วันนี้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจำนวน 131 โรงและลานเทจำนวน 3,117 แห่งเปิดรับซื้อ-ขายผลผลิตปาล์มตามปกติแล้ว และราคาปาล์มน้ำมันคุณภาพก็ขยับขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ยังไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ตราบใดที่ยังไม่มีกระบวนการใด ๆ ทำให้ปาล์มน้ำมันก้าวไปสู่ความยั่งยืน เฉกเช่นเดียวกันอ้อยหรือยางพารา อย่างน้อยก็มีเงินกองทุนช่วยสนับสนุนอยู่ระดับหนึ่ง
ปาล์มจะต่างจากยางพารา เพราะยางส่งออกอย่างเดียว ราคาจึงขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศเป็นหลักแต่ปาล์มจะคล้ายกับอ้อยมีทั้งส่งออกและใช้ในประเทศ มีผู้ผลิต มีโรงสกัดน้ำมัน มีโรงงานแปรรูป มีผู้ส่งออก มีผู้จำหน่ายในประเทศเพียงแต่อ้อยมีกฎหมายเฉพาะเข้ามาดูแลแต่ปาล์มไม่มี ควบคุมโดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.)อุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างพืชเศรษฐกิจแต่ละตัว
อุดม ยอมรับว่า การกำกับดูแลปาล์มน้ำมันโดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายยังไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารจัดการพืชเศรษฐกิจอย่างปาล์มน้ำมัน เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับใช้โดยเฉพาะและการบังคับใช้กฎหมายก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างเช่นกฎหมายโรงงานก็ใช้กับโรงงานทั่วไป หรืออย่างกระทรวงพาณิชย์ก็ใช้พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป โดยแต่ละหน่วยงานก็ไม่มีกฎหมายบังคับใช้ปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะ
ดังนั้นแนวคิดการจัดตั้งหน่วยงานและกองทุนบริหารจัดการปาล์มน้ำมันฯ เช่นเดียวกันกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง การจัดทำโครงสร้างกำกับราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ การมีกฎเกณฑ์ กติกากำกับดูแลปาล์มน้ำมันครบวงจร ภายใต้พ.ร.บ.ปาล์มยั่งยืน ที่รัฐบาลกำลังนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและน่าจะเป็นทางออกเดียวในการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันไปสู่ความยั่งยืนทั้งระบบในระยะยาวได้
“ถ้าจะดูแลทั้งระบบ เกษตรกร โรงงานแปรรูป ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการจำหน่ายในประเทศ จะต้องมีกฎหมายมารองรับที่ชัดเจนควบคุมการปลูก การแปรรูป การจัดจำหน่าย ดังนั้นการมีพ.ร.บ.ปาล์มยั่งยืน ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่จะถูกทางจริงหรือไม่ก็ต้องไปดูในรายละเอียดของพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย”รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ได้รายงานพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยปีล่าสุด(2565)พบว่า มีทั้งสิ้น 6,150,373 ไร่ ให้ผลผลิตรวมจำนวน 18,415,713 ตัน พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ จำนวน 5,280,179 ไร่ให้ผลผลิตรวม 16,613,445 ตัน ในขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5-10 % ส่วนใหญ่จะปลูกทดแทนยางพาราและนาร้าง