ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่2 พ.ศ. 2566-70 มุ่งผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 31 ม.ค. 66 ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่2 พ.ศ. 2566-70  ตามที่คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ไปดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

IMG 64386 20230131154940000000
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่ 2 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำขึ้นเพื่อมาดำเนินการต่อเนื่องจากแผน ฉบับที่ 1 ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 64  โดยการขับเคลื่อนตามแผนจะก่อให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ นำมาซึ่งความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ

spices 1191945 960 720
สมุนไพร


น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่2 ประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า(Supply Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมสมุนไพร

เริ่มจากระดับต้นน้ำ  ยุทธศาสตร์ที่1 การส่งเสริมการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป้าหมายคือวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพตรงกับความต้องการทางการตลาด มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาสู่การพัฒนากระบวนการต้นน้ำ  มีตัวชี้วัดผลลัพธ์ เช่น  ปี 2570 พื้นที่ปลูกสมุนไพรได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่, แผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชสมุนไพรเพิ่มขึ้น 30 พืช, กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเบื้องต้น รวมถึงผลิตสมุนไพรครบวงจรตลอด Supply Chain เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่ได้รับการส่งสเริม ร้อยละ 5 สามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์

ระดับกลางน้ำ ยุทธศาสตร์ที่2 การพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป้าหมาย เน้นการสร้างศักยภาพผู้ประกอบการายย่อย พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศและมุ่งเป้าพัฒนาสารสกัดเพื่อลดการนำเข้าและทำให้ประเทศสามารถเติบโตเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสมุนไพร  มีตัวชี้วัดผลลัพธ์ ได้แก่ การขยายตัวของอุตสาหกรรมสารสกัดระดับอุตสาหกรรมขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 ในปี 70 มีมาตรฐานสารสกัดที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ10 ผู้ประกอบการสมุนไพรโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

น.ส.ไตรศุลี  กล่าวว่า สำหรับระดับปลายน้ำ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่3 การส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป้าหมายคือการขยายขอบเขตการรับรู้คุณค่าของสมุนไพรผ่านอาหารและวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากประเทศไทยด้วยตราสัญลักษณ์คุณภาพ มีตัวชี้วัดผลลัพธ์  ได้แก่ มีการขับเคลื่อนสมุนไพรควบคู่กับอาหารไทย, การส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปในอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี สามารถสร้างการรับรู้และการยอมรับตราสัญลักษณ์สมุนไพรคุณภาพ และ

ยุทธศาสตร์ที่4 การส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเหมาะสม เป้าหมายคือ ผู้บริโภคมีทัศคดีที่ดีต่อผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีระบบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสมุนไพรเป้าหมายประสบความสำเร็จทางการตลาด มีตัวชี้วัดผลลัพธ์  เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ในปี 70, จำนวนการสั่งใช้ยาจากสมุนไพรในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ในปี 70, จำนวนยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร/บัญชีนวัตกรรม อย่างน้อย 50 รายการภายในปี 70

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จะเป็นกรอบที่สนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต มีเป้าหมายคือ การนำงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกต่อยอดและสร้างมูลค่าของอุตสาหกรรมสมุนไพร มีตัวชี้วัดผลลัพธ์  เช่น มูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2570 มูลค่าการบริการและการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในจังหวัดเมืองสมุนไพรขยายตัวร้อยละ 5  จำนวนรายการผลิตภัณฑ์สมุนไพรใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และสามารถจำหน่ายได้จริงไม่น้อยกว่า 25 ผลิตภัณฑ์ภายในปี 70

การขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่2 จะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของหลายกระทรวงจึงได้มีกลไกกำหนดเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยต่างๆ ให้เป็นเอกภาพทั้ง กลไกเชิงนโยบาย การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ และกลไกการติดตาม ในส่วนของค่าใช้จ่ายตามแผนนั้น เนื่องด้วยแผนมีโครงการสำคัญที่ส่งผลต่อการบรรลุตามแผนปฏิบัติการ รวม 61 โครงการ หน่วยงานร่วมบูรณาการรวม 53 หน่วยงาน รวมงบประมาณที่รองรับการดำเนินการ 14,159.64 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามแผนต่อไป