วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ” ดำเนินโครงการโดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รี ณ สถานีเกษตรโครงการหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 เป็นสายพันธุ์พ่อและสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2563 ทำให้สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสตรอว์เบอร์รีเกาหลี อีกทั้งมีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารแอนโทไซยานินหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงเหมาะแก่การนําไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยสายพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน คณะนักวิจัยได้ทำการทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในแปลงปลูกของสถานีวิจัยเกษตรโครงการหลวง ทั้ง 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง สถานีเกษตรหลวงแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง ซึ่งหากผลการทดลองเป็นที่สำเร็จแล้วจะทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรสามารถผลิตสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ให้มีมาตรฐานและคาดว่าจะสามารถทำการค้าในตลาดได้ในปี 2567
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาราษฎรอยู่อย่างร่มเย็นภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร
หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือการดำเนินงานของ มูลนิธิโครงการหลวง ที่ได้ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม
การนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสตรอว์เบอร์รีพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการปรับปรุงใหม่ว่า “พันธุ์พระราชทาน ๘๙” ตามพระชนมายุ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร องค์ผู้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการก่อตั้งโครงการ อันนับเป็นสตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน สายพันธุ์แรกในรัชกาล
เพราะทุกครั้งที่มูลนิธิโครงการหลวง ได้ทำการวิจัยทดลองสายพันธ์สตรอว์เบอร์รีขึ้นมาใหม่ จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระราชทานชื่อพันธุ ดังเช่น สตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์พระราชทาน 80 และ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน88 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อให้แก่โครงการหลวง ซึ่งสายพันธุ์พระราชทานทั้ง 2 สายพันธุ์ได้ตั้งชื่อตามปีที่ตรงกับพระชนมายุ
แม้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 88 จะเป็นสตรอว์เบอร์รีพันธุ์สุดท้ายในรัชกาลที่ 9 แต่มูลนิธิโครงการหลวงยังคงเดินหน้าพัฒนาสตรอว์เบอร์รีของไทยต่อไป ตามพระราชดำริ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ทำการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี ที่มีจุดเด่นคือ มีสารต้านอนุมูลอิสระ สารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งใช้ระยะเวลาในการค้นคว้าวิจัยทดลองกว่า 7 ปี ถึงได้สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์พระราชทาน 89 อันเป็นนามพระราชทานแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ความโดดเด่นของสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์พระราชทาน 89 อาจไม่ได้เน้นในเรื่องของรสชาติหวานฉ่ำเหมือนสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เท่าไรนัก เพราะสายพันธุ์นี้จะเน้นในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ สารแอนโทไซยานินสูงอันมีสรรพคุณช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยับยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ชะลอความเสื่อมของดวงตา ผลของสตรอว์เบอร์รีจะมีสีแดงเข้มเนื้อแน่นมีกลิ่นหอมรสชาติหวานกำลังรับประทาน