นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้ นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรการระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุมหารือทางเทคนิค (Technical Consultation) เรื่องมาตรการด้านสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกมังคุดของไทยและผลส้มสดของญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ร่วมกับ Mr. Kobayashi Masatoshi, Director of International Affairs Office กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น (MAFF) ผ่าน Video conference โดยมีผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว
โดยการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ผลักดันการดำเนินงานและเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อให้ยอมรับและอนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกมังคุดไปยังญี่ปุ่นด้วยมาตรการใหม่ (Conditional non-host status to fruit flies) ที่ไม่ต้องมีการอบไอน้ำสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ภายในปี 2566 โดยได้ผลลัพธ์การเจรจาตามที่ฝ่ายไทยตั้งเป้าไว้ ซึ่งฝ่ายไทยได้เน้นย้ำให้ฝ่ายญี่ปุ่นเร่งรัดการดำเนินการที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ฝ่ายไทยสามารถเริ่มส่งออกผลมังคุดสดไปญี่ปุ่นโดยไม่ต้องอบไอน้ำได้ภายในฤดูกาลส่งออกปี 2566 นี้
“การประชุมหารือทางเทคนิคดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตร และ มกอช. ที่ใช้เป็นกลไกในการเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อผลักดันการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาด้านมาตรการด้านสุขอนามัยพืชในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกันหากเจรจาเป็นผลสำเร็จและไทยสามารถส่งออกมังคุดไปยังญี่ปุ่นได้ด้วยมาตรการใหม่ที่ไม่ต้องผ่านการอบไอน้ำ จะเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าตลอดจนช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนในการส่งออกมังคุดของไทยไปญี่ปุ่น ”เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มังคุดเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยที่นิยมรับประทานทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนั้นมังคุดจึงเป็นพืชส่งออกหลัก ๆ ของไทย โดยมีหลายประเทศที่ไทยส่งออกมังคุด เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีมาตรการในการส่งออกมังคุดที่แตกต่างกันออกไป เกษตรกรที่จะทำมังคุดส่งออกจึงต้องศึกษาเงื่อนไขแต่ละประเทศให้ดี
เงื่อนไขในการทำมังคุดส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น
ผลมังคุดส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นต้องผ่านการกำจัดแมลงวันผลไม้ (Oriental fruit fly) Bactrocera dorsalis species complex ด้วยวิธีการอบไอน้ำ (vapour heat treatment) ซึ่งสามารถขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืชได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ขั้นตอนการส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่น
1.ผู้ประกอบการโรงอบไอน้ำต้องขอขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุ (GMP) ที่กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.) จากกรมวิชาการเกษตร
2.ผู้ส่งออกมังคุดต้องยื่นแบบ สมพ. 5 คำร้องขอหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้ เพื่อขอหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผัก – ผลไม้ ที่กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช
3.ผู้ส่งออกมังคุดจะต้องยื่นใบคำร้องแสดงความจำนงเข้าร่วม “โครงการการจัดการสารเคมีในมังคุด เพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น” ที่กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช
4.ผู้ส่งออกมังคุดไปประเทศญี่ปุ่นจะต้องเข้าร่วมโครงการมังคุดปลอดสารพิษตกค้าง ค่า MRL จะต้องไม่เกินค่าที่ประเทศญี่ปุ่นกำหนดเอาไว้ และก่อนส่งออกทุกครั้งต้องส่งตัวอย่างเพื่อตรวจรับรองสารพิษตกค้างอีกด้วย
5.ผู้ประกอบการโรงอบไอน้ำต้องขอขึ้นทะเบียนตู้อบไอน้ำที่กลุ่มงานกำจัดศัตรูพืชกักกัน กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ุ6.ผลมังคุดสดจะต้องมาจากแหล่งปลูกที่มีการรับรอง GAP มีการควบคุมป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มงวด และต้องปราศจากการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ Bactrocera dorsalis, B. papayae, B. pyriforiae, และ B.carambolae ผลมังคุดสดที่ผ่านการอบไอน้ำผลไม้ก่อนส่งออก หมาย ถึงผลมังคุดสดที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้อนุญาตให้นำเข้าได้โดยต้องผ่านกระบวนการอบ ไอน้ำเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชกักกันที่กำหนดไว้คือ Bactrocera dorsalis species complex
7.ผลมังคุดสดจะต้องมีผลสมบูรณ์ เปลือกต้องไม่บุบ ไม่มีรอยแผลแตก ที่จะเป็นสาเหตุให้แมลงวันผลไม้เข้าทำลายได้ และต้องเป็นผลมังคุดสดที่ได้จากการเก็บเกี่ยวโดยตรงจากต้นเท่านั้น ต้องไม่มีการปะปนของวัชพืช ดินทราย รวมถึงชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ ก้าน เศษซากพืช เป็นต้น ซากสัตว์ ซากแมลง หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ที่สำคัญผลมังคุดสดจะต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิตชนิดอื่นติดไปกับผลมังคุดสดส่งออก
8.ผลมังคุดสดต้องผ่านการกำจัดแมลงจากเครื่องอบไอน้ำ โดยวิธีการอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ที่ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 50 – 80 ในช่วงแรกของการให้ความร้อน โดยเพิ่มอุณหภูมิผลขึ้นอย่างช้าๆ จนกระทั่งถึง 43 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นก็ปรับสภาพอากาศในเครื่องอบไอน้ำให้อยู่ในสภาพที่อิ่มตัวด้วยไอน้ำ ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่าร้อยละ 90 จนกระทั่งอุณหภูมิตรงบริเวณกึ่งกลางผลไม้เพิ่มขึ้นถึง 46 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า เป็นเวลานาน 58 นาที สำหรับการลดความร้อนจากผลมังคุดสดสามารถทำได้โดยใช้ลมเป่าเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงสามารถบรรจุลงภาชนะบรรจุได้ ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับผลมังคุดส่งออกยังไปประเทศญี่ปุ่น