นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังปี 2565/66 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร จากข้อมูลพยากรณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ณ เดือนธันวาคม 2565 คาดว่า มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้ง 4 จังหวัดรวม 662,647 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 629,712 ไร่ (เพิ่มขึ้น 32,935 ไร่ หรือร้อยละ 5) เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายได้ราคาดีจึงจูงใจให้ขยายเนื้อที่ปลูกทดแทนอ้อยโรงงานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และบริเวณที่นาดอนซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามันสำปะหลัง ด้านผลผลิตรวมทั้ง 4 จังหวัด มีจำนวน 2,312,772 ตัน เพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 2,182,474 ตัน (เพิ่มขึ้น 130,298 ตัน หรือร้อยละ 6) เนื่องจากเนื้อที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นและปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตดี
หากพิจารณาในส่วนของรายจังหวัด พบว่า กาญจนบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 567,194 ไร่ ผลผลิตรวม 1,984,045 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,498 กิโลกรัม/ไร่ ราชบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 90,144 ไร่ ผลผลิตรวม 312,259 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,464 กิโลกรัม/ไร่ เพชรบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 4,514 ไร่ ผลผลิตรวม 13,488 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2,988 กิโลกรัม/ไร่ และประจวบคีรีขันธ์ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 795 ไร่ ผลผลิตรวม 2,980 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,749 กิโลกรัม/ไร่
ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่จะเริ่มเพาะปลูกมันสำปะหลังช่วงเดือนมีนาคม 2565 และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช่วงเดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 โดยช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 มีผลผลิตออก จำนวน 1,156,386 ตัน คิดเป็นร้อยละ 50 ของผลผลิตทั้งหมดของ 4 จังหวัด ซึ่งผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ร้อยละ 96 เกษตรกรนำไปขายที่ลานรับซื้อท้องถิ่นและส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 4 เกษตรกรจะส่งโรงงานแป้งมันสำปะหลังเอง โดยราคาที่เกษตรกรส่วนใหญ่จะขายเป็นหัวมันสดคละ (ไม่วัดเปอร์เซ็นต์แป้ง) ราคาเฉลี่ยของทั้ง 4 จังหวัด (ราคา ณ ไร่นา วันที่ 9 มกราคม 2566) อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.54 บาท
สำหรับปีการผลิต 2565/66 ยังคงมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อเป็นการส่งเสริม และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2565/66 ณ หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน และไม่ซ้ำแปลง โดยเกษตรกรผู้ที่ได้รับสิทธิ์ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2565/66 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2566 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องเป็นเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังด้วยตนเองและกรรมสิทธิ์เป็นของเกษตรกร
นอกจากนั้นภาครัฐได้มีมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2565/66 จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังปี 2565/66 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/66 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2565/66 และ 4) โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ)
ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรควรหมั่นดูแลรักษาแปลง เฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่าง มันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้เริ่มพบการระบาดแล้วในหลายพื้นที่ และในส่วนของพื้นที่ปลูกใหม่หรือพื้นที่ปลูกซ่อมเกษตรกรไม่ควรนำ ท่อนพันธุ์จากแหล่งอื่นที่พบการระบาดของโรคมาปลูก ทั้งนี้ หากพบอาการใบด่าง ใบหงิกเสียรูปทรง ลำต้นแคระแกรน ต้องรีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ หรือสายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง โทร 0 2955 1626 และ 0 2955 1514 เพื่อดำเนินการตัดวงจรการระบาดต่อไป สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันตก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร 0 3233 7954 หรืออีเมล์