รู้จัก”ทุเรียนไทย” 11 สายพันธุ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียน”GI“

ทำความรู้จักทุเรียนไทย 11 สายพันธุ์ ที่มีรสชาติโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จนได้รับการขึ้นทะเบียน GI โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไปดูว่าจะอยู่ในจังหวัดไหนภูมิภาคใดกันบ้าง

“ทุเรียน” ได้ชื่อว่า เป็นราชาผลไม้ ที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับต้นของโลก และยังสามารถปลูกทุเรียนได้มากกว่า 600 สายพันธุ์ แต่ที่นิยมและคุ้นเคยมีเพียงไม่กี่สายพันธุพันธุ์ เช่น หมอนทอง ชะนี ก้านยาว กระดุมทอง ป่าละอู หลงลับแลและหลินลับแล เป็นต้น 

แต่ฤดูกาลทุเรียนแบบนี้ ทีมเรื่องเล่าข่าวเกษตร จะไปรู้จักการคัดสรรทุเรียนคุณภาพและการการันตีถึงแหล่งปลูก จนได้ตราสัญลักษณ์ GI 

76B47D59 A2CB 432D A2D5 CCFD564EB0E2 scaled

โดยทุเรียน GI คือ ทุเรียนที่ได้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) หรือ Geographical Indication(GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสินค้า GI หมายถึง สินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ออกให้

และทุเรียน GI ต้องมีแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง มีคุณภาพ มีชื่อเสียง แตกต่างจากทุเรียนทั่วไป เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ซึ่งทุเรียน GI มีอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย และการได้รับตรา GI จึงเปรียบเสมือนแบรนด์ของท้องถิ่น ที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า 

03E39252 BB2A 4CE0 B5BB 34CF4288755F scaled

ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไปแล้วทั้งหมด 174 รายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มีนาคม 2565) ซึ่งประกอบไปด้วยสินค้าหลายหมวดหมู่ ได้แก่ ข้าว อาหาร ผ้า หัตถกรรม/อุตสาหกรรมไวน์/สุรา ผัก/ผลไม้ และหนึ่งในนั้นคือทุเรียนจำนวน 11 รายการ

  1. ทุเรียนนนท์ คือ ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมืองมีรสชาติดี หวาน มัน หอม สีเหลือง เนื้อละเอียด ปลูกในเขตพื้นที่ จ.นนทบุรี ซึ่งในพื้นที่นนทบุรีนี้ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้สภาพดินมีแร่ธาตุที่สำคัญมารวมกัน เหมาะกับการทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะสวนทุเรียน ชาวสวนในพื้นที่จะใช้ใบทองหลางเป็นส่วนผสมที่สำคัญในปุ๋ย ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพดี รสชาติหวานอร่อย เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป
  2. ทุเรียนป่าละอู คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนี มีลักษณะเนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เม็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหินจ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในพื้นที่ป่าละอูนั้นเริ่มมีการนำทุเรียนเข้ามาทดลองปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยนำพันธุ์ก้านยาวมาจาก จ.นนทบุรี และ พันธุ์หมอนทองมาจาก จ.ระยอง โดยการทดลองนำมาปลูกในครั้งนั้นได้ผลดีคือ มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากต้นพันธุ์ที่นนทบุรีและระยอง ทุเรียนมีรสมัน หวานน้อย เนื้อแน่นและกลิ่นไม่แรง
  3. ทุเรียนปราจีน คือ ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมือง มีเนื้อแห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรีอ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ์ และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยเกษตรกรได้นำพันธุ์ทุเรียนทั้งแบบตอนกิ่งและเมล็ดมาจาก จ.นนทบุรี นำมาปลูกเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา และด้วยสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝนและเนื้อดิน ทำให้ทุเรียนปราจีนมีเอกลักษณ์พิเศษคือ เนื้อแห้งไม่แฉะ

CE2171AE B907 4289 B457 263AB2FA0C80
  1. ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ คือ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล มีผลทรงกลม หรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ จุดกำเนิดของทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์มาจากทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีความพิเศษแตกต่างจากทุเรียนพื้นเมืองทั่วไป คือ เป็นทุเรียนขนาดเล็กรสชาติหวานมัน เมล็ดลีบ ภายหลังจากส่งเข้าประกวดทุเรียนและได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เกษตรกรจึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกและขยายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง
  2. ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ คือ ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล มีผลทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียวแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เนื้อมาก เส้นใยน้อย เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ มีเมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ พื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายหรือที่เรียกว่าเป็นดินแดงผาผุ เมื่อถึงฤดูฝน จะมีน้ำไหลมาจากยอดเขา นำพาแร่ธาตุมาเติมให้พื้นที่การเกษตร ทำให้ทุเรียนหลินลับแล รสชาติหวานมัน เนื้อแห้ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งต้นกำเนิดมาจากการนำเมล็ดทุเรียนมาปลูกแล้วได้ทุเรียนต้นใหม่ที่มีผลทุเรียนแปลกกว่าทุเรียนต้นอื่น ๆ จากนั้นมีการส่งเข้าประกวด และได้รับความนิยมจากนักกินทุเรียนไม่น้อยกว่าทุเรียนพันธุ์หลงลับแล
  3. ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ คือ เรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี ปลูกในพื้นที่อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษณ์ และ อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษเริ่มปลูกอย่างจริงจัง เมื่อพ.ศ. 2531 มีการนำต้นพันธุ์ทุเรียนพันธุ์หมอนทองมาทดลองปลูก ปรากฎว่าได้ผลดี ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดี เนื่องจากดินบริเวณนี้เป็นดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณผุพังมาจากหินบะซอลล์ มีธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เนื้อทุเรียนละเอียด แห้ง เนียนนุ่ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมปานกลาง สีเนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล
50988719 0244 4161 B789 66DC8341E799 scaled
  1. ทุเรียนสาลิกาพังงา คือ ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของ จ.พังงา มีลักษณะผลทรงกลม เปลือกบาง หนามสั้นและถี่ เนื้อหนาละเอียด สีเหลืองเข้ม กลิ่นหอมแต่ไม่ฉุนมาก แกนกลางเปลือกทุเรียนจะมีสีสนิมแดงเมล็ดลีบ รสชาติหวาน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.กะปง จ.พังงา เหตุที่ชื่อสายพันธุ์สาลิกา เนื่องจากคนท้องถิ่นในยุคก่อนนิยมเปรียบเปรยความอร่อยเหมือนกับจะงอยปากของนกสาลิกาที่มีเสียงไพเราะ และเรียกขานกันมาจนถึงปัจจุบัน ทุเรียนพันธุ์สาลิกาต้นดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ อ.กะปง จ.พังงา มีอายุมากกว่า 100 ปี ยังคงยืนต้นและให้ผลผลิตอยู่เป็นปกติ
  2. ทุเรียนในวงระนอง คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ผลทรงกลมรี มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่สีเขียว เนื้อหนาเนียนละเอียดสีเหลืองทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวานหอม มัน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน ปลูกในพื้นที่ต.ในวงเหนือ และ ต.ในวงใต้ อ.ละอุ่น จ.ระนอง พื้นที่ในวงเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาล้อมรอบ แต่เดิมมีการถางป่าเพื่อปลูกกาแฟและข้าวไร่ เมื่อราคากาแฟตกต่ำก็หันมาปลูกพื้นชนิดอื่น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 ได้นำกล้าพันธุ์ทุเรียนหมอนทองมาจาก อ.หลังสวน จ.ชุมพร จากนั้นเกษตรกรก็เริ่มปลูกทุเรียนกันมากขึ้น โดยชาวบ้านที่นี่มีขนบธรรมเนียมในการทำสวนทุเรียน โดยจะมีการไหว้สวน (ไหว้เจ้าที่) ประจำปี หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว และมีความเชื่อว่าปลูกทุเรียนไว้ถือว่าเป็นไม้มงคลเพื่อป้องกันอุปสรรคขวากหนาม

      

F41181F7 CECD 44AC 84AB 8EA8FCD3EF98
  1. ทุเรียนชะนีเกาะช้าง คือ ทุเรียนพันธุ์ชะนี มีลักษณะผลค่อนข้างรี ยาว หนามใหญ่และห่าง เปลือกบาง สีผิวออกสีน้ำตาลปนแดง ส่วนใหญ่มีหนามแดง เห็นร่องพูชัดเจน เนื้อทุเรียนหนา ผิวสัมผัสละเอียดแห้ง เหนียว มีสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีเหลืองอมส้ม ส่วนใหญ่เมล็ดจะมีขนาดเล็กหรือลีบ รสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอม ปลูกเฉพาะในพื้นที่อ.เกาะช้าง จ.ตราด มีการคาดการว่าทุเรียนถูกนำมาปลูกในพื้นที่อำเภอเกาะช้างตั้งแต่เมื่อประมาณ 70 ปีมาแล้ว โดยดั้งเดิมเป็นทุเรียนป่าหรือทุเรียนโบราณที่มีต้นสูงใหญ่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “ทุเรียนเม็ด” เนื่องจากมีมีเม็ดใหญ่ เนื้ออ่อน รสชาติไม่ดี ต่อมามีผู้นำทุเรียนเข้ามาปลูกในพื้นที่โดยคาดว่านำต้นพันธุ์มาจาก จ.จันทบุรี ซึ่งทุเรียนพันธุ์ชะนีสามารถเจริญเติบโตได้ดี และถูกนำมาจัดแสดงในงานวันผลไม้ และของดีอำเภอเกาะช้าง ทำให้ชื่อเสียงของ ทุเรียนชะนีเกาะช้าง เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
  2. ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียดเส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน มัน ปลูกในอำเภอปากช่องจ.นครราชสีมา ซึ่งจัดอยู่ในพื้นที่ทุ่งหญ้าเขตร้อน มีมรสุมหลักพัดผ่าน ทำให้อากาศชุ่มชื้น มีฝนตกชุกสภาพอากาศกลางวันร้อนกลางคืนเย็น ส่งผลให้ทุเรียนในพื้นที่ดังกล่าวรสชาติดี และเนื่องจากอากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน ทำให้ธาตุอาหารโพแทสเซียมที่สะสมอยู่ในเวลากลางคืนทำงานได้ดี ส่งผลให้เกิดเส้นใยในทุเรียนน้อยลง และยังมีโครงสร้างดินที่มีคุณสมบัติระบายน้ำที่ดี ดินดูดซับน้ำไว้ในปริมาณที่เป็นประโยชน์กับพืช ทำให้ทุเรียนดูดน้ำไปใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ
  3. ทุเรียนจันท์ คือ ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์พวงมณี พันธุ์นกหยิบ พันธุ์ทองลินจง พันธุ์นวลทองจันทร์ พันธุ์กบสุวรรณ และพันธุ์ทางการค้า ได้แก่ พันธุ์จันทบุรี 1 ถึงพันธุ์จันทบุรี 10 ที่มีเนื้อละเอียด สีเหลือง หรือเหลืองเข้ม หรือเหลืองอมส้ม เนื้อหนาละเอียด มีเส้นใยน้อย หรือไม่มีเส้นใย รสชาติหวานมันหรือหวานแหลม ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี สภาพพื้นที่โดยทั่วไปดินเกิดจากการสลายตัวของหินปูน มีการระบายน้ำได้ดี มีอุณหภูมิที่เหมาะสม เกิดการสะสมพลังงานในรูปของสารคาร์โบไฮเดรตมาก ทำให้กิ่งก้านสาขาของต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกได้เร็วและสมบูรณ์ ทุเรียนจันท์ จึงมีคุณภาพเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของ จ.จันทบุรี
A0AAA110 DD04 4DA2 9748 D94F150CFD11

และแยกให้ให้เห็นชัดเจนกันเป็นรายภาค คือ
ภาคเหนือ ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่,ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ
ภาคตะวันออก ทุเรียนปราจีนทุเรียนจันท์,ทุเรียนชะนีเกาะช้าง
ภาคตะวันตก ทุเรียนป่าละอู
ภาคกลาง ทุเรียนนนท์
ภาคใต้ ทุเรียนในวงระนองทุเรียนสาลิกาพังงา

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา