“ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมชัยนาท 2” ผลผลิตต่อไร่สูง

.

ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 2 หรือ ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสม CNW 142430505 ได้จากการผสมระหว่าง สายพันธุ์แม่ WPK008 และ สายพันธุ์พ่อ F4305 โดยสายพันธุ์แม่ WPK008 คัดเลือกจากประชากรข้าวโพดข้าวเหนียว (N- WPK ซึ่งเป็นประชากรข้าวโพดข้าวเหนียวที่มีคุณภาพการบริโภคเหนียวนุ่ม) และเมล็ดสีม่วง ใช้วิธีการคัดเลือกแบบสืบประวัติ (pedigree selection) ร่วมกับวิธีการผสมตัวเอง (seling) จำนวน 7 ชั่ว ได้สายพันธุ์แท้ CN-WPK(S)- B-5- 2-2-B-B-B ดำเนินการระหว่างปี 2555-2558 และสายพันธุ์พ่อ F4305 เป็นสายพันธุ์แท้ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท เป็นสายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง คุณภาพการบริโภคเหนียวนุ่ม และเมล็ดสีขาว คัดเลือกจากคู่ผสมระหว่าง T-10 -V-1/WAXY-DMR โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบสืบประวัติ (pedigree selection) ร่วมกับวิธีการผสมตัวเอง (selfing) จำนวน 6 ชั่ว ได้สายพันธุ์แท้ CNW4305(S) 2 -B-42-B-B-B ดำเนินการระหว่างปี 2545- 2547

.

323625496 5617557098366857 2387146916918234375 n
ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมชัยนาท 2

ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 2 หรือข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสม CNW 142430505 นำเข้าประเมินผลผลิตตามขั้นตอนปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้ การเปรียบเทียบเบื้องต้น การเปรียบเทียบมาตรฐาน การเปรียบเทียบ ในท้องถิ่นและการเปรียบเทียบในไร่เกษตรกรโดยใช้พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท84-1 พันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตรและพันธุ์สวีทแวกซ์ 254 พันธุ์การค้าของภาคเอกชนเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ คุณค่าทางโภชนาการ และประเมินความพึงพอใจในคุณภาพการบริโภค ดำเนินการระหว่างปี 2558 -2561

.

323647575 560644275945108 2924122619822909262 n
ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมชัยนาท 2

ลักษณะประจำพันธุ์ :

ลำต้นมีลักษณะตรง มีสีเขียว ใบแรกรูปร่างมน รากค้ำสีชมพู ช่อดอกมีลักษณะค่อนข้างตรง อับเรณูและเส้นไหมมีสีชมพู เปลือกหุ้มฝักมีสีเขียว เมล็ดสีขาวม่วง มีหูใบ (ear leaf) คุณภาพการบริโภคเป็นแบบเหนียวนุ่ม ฝักเป็นรูปทรงกึ่งกรวยกึ่งกระบอกมีขนาดกว้าง4.3 เซนติเมตร ยาว17.5 เซนติเมตร จำนวนแถว 12-14 แถวต่อฝัก อายุวันออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ 43 วัน อายุวันออกไหม 50 เปอร์เซ็นต์ 44 วัน และมีอายุเก็บเกี่ยว 64 วัน ต้นมีความสูง 209 เซนติเมตร และฝักมีความสูง 113 เซนติเมตร น้ำหนักฝักแบบทั้งเปลือก 2,132 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักฝักแบบปอกเปลือก 1,306 กิโลกรัมต่อไร่ ปฏิกิริยาต่อโรคราน้ำค้างเป็นแบบอ่อนแอและต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่เป็นแบบอ่อนแอปานกลาง

324033480 876599490194302 6767736259290920978 n
ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมชัยนาท 2

คุณสมบัติทางเคมีของเมล็ดสด มีองค์ประกอบดังนี้ อะไมโลส 6 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 76.21 เปอร์เซ็นต์ ฟรักโทส 0.97 เปอร์เซ็นต์ กลูโคส 1.28 เปอร์เซ็นต์ ชูโครส 1.15 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 10.80 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 2.56 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 8.24 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 2.19 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นเมล็ด 9.36 เปอร์เซ็นต์

.

ลักษณะเด่น

1.ให้ผลผลิตฝักทั้งเปลือก 2,132 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ชัยนาท 84 -1 ร้อยละ 3 และพันธุ์สวีทแวกซ์ 254 ร้อยละ 20 และให้ผลผลิตฝักปอกเปลือก1,306 กิโลกรัมต่อไร่ใกล้เคียงกับพันธุ์ชัยนาท 84 -1 และสูงกว่าพันธุ์สวีทแวกซ์ 254 ร้อยละ 3

2. เมล็ดมีสีขาวม่วง เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

3. คุณภาพเหนียวนุ่ม เหมาะกับการรับประทานฝักสด

4. ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมในแหล่งปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว

.

พื้นที่แนะนำ: ปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่เหมาะสมที่เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว เช่น จังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สงขลา เป็นต้น

.

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด : การปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวพันธุ์นี้ในแหล่งที่มีโรคราน้ำค้างและโรคใบไหม้แผลใหญ่ระบาด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้าวโพดข้าวเหนียว (waxy corn) เป็นข้าวโพดรับประทานฝักสดที่มีการปลูก และบริโภคกันมากในทวีปเอเชีย ประเทศไทยได้มีการนำเข้าข้าวโพดข้าวเหนียวมาปลูก และเป็นข้าวโพดฝักสดที่นิยมบริโภคของคนไทยมานาน มีการผลิตและจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นทั่วประเทศตลอดทั้งปีซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในตลาดและมีความต้องการในการบริโภคมากขึ้นตามลำดับ เนื่องด้วยจากข้าวโพดข้าวเหนียวนั้นมีรสชาติที่ดีและมีความเหนียวนุ่ม มีคุณค่าทางอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวประมาณ 890,000 ไร่ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นมีความนิยมในการบริโภคข้าวโพดข้าวเหนียวที่แตกต่างกัน บางแห่งชอบนุ่มเหนียวมาก บางแห่งชอบเหนียวนุ่มน้อย และโดยทั่วไปพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกมักจะเป็นพันธุ์ผสมเปิด ข้อจำกัดของพันธุ์ผสมเปิด คือ ผลผลิตต่ำ ขนาดฝัก และอายุการเก็บเกี่ยวไม่สม่ำเสมอ

แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การใช้พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมเป็นพันธุ์ปลูก จึงทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งทำการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว พยายามสร้างพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงพันธุ์เป็นพันธุ์ลูกผสม โดยพันธุ์ลูกผสมมีจุดเด่นด้านความสม่ำเสมอของลักษณะต่าง ๆ เช่น ความสูงต้น ความสูงฝัก อายุการเก็บเกี่ยว และผลผลิตสูง