นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืน ตอบโจทย์ทั้งการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น สร้างดุลยภาพระหว่างการเพิ่มปริมาณผลผลิตกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
สศท.2 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวเจ้านาปีของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตข้าวเจ้านาปีของเกษตรกรตัวอย่าง 2 กลุ่ม จำนวน 62 ราย ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอบางระกำ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอพรหมพิราม อำเภอวังทอง และอำเภอวัดโบสถ์ แบ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) จำนวน 31 ราย ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต อาทิ เครื่องพ่นหวานเมล็ด เครื่องสีข้าว เครื่องอบเมล็ดเพื่อลดความชื้น ฯลฯ และเกษตรกรทั่วไป จำนวน 31 ราย ที่ไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตข้าว
พบว่า การผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2564/65 โดยเพาะปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ของปีถัดไป เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,557.41 บาท/ไร่/ปี ได้ผลผลิตรวม 585.20 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 762.97 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 5,554.42 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 997.01 บาท/ไร่/ปี ขณะที่เกษตรกรที่ไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตข้าว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,830.88 บาท/ไร่/ปี ได้ผลผลิตรวม 567.30 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 729.18 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 5,024.05 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 193.17 บาท/ไร่/ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว มีต้นทุนการผลิตน้อยกว่า ร้อยละ 5.66 ผลผลิตต่อไร่มากกว่า ร้อยละ 4.63 และผลตอบแทนมากกว่า ร้อยละ 10.56
สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีความชื้น 15% เฉลี่ยทั้งจังหวัด (ราคา ณ ไร่นา เดือนพฤศจิกายน 2565) ราคาอยู่ที่ 9,150 บาท/ตัน (9.15 บาท/กิโลกรัม) ในด้านการจำหน่าย ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 จะจำหน่ายในรูปผลผลิตข้าวเปลือก ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 20 แบ่งเป็นเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และเก็บไว้ทำพันธุ์ สำหรับพันธุ์ข้าวเจ้านาปีที่เกษตรกรนิยมปลูกส่วนใหญ่ในจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ พิษณุโลก 2 และ กข 41 มีลักษณะเด่น คือเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง มีอายุการเก็บเกี่ยว 100 – 110 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 800 – 1200 กิโลกรัม/ไร่ และเป็นพันธุ์ข้าวที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมถึงให้คุณภาพการแปรสีข้าวที่ดี
สำหรับแนวทางการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้วยนวัตกรรมเพื่อการเกษตร โดยพบว่าเกษตรกรรุ่นใหม่มีการนำเครื่องมือเครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อทุ่นแรง ตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว การบำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต และมีการบันทึกจัดเก็บข้อมูล โดยมีแนวคิดเพื่อการพัฒนาการผลิตและการตลาดเปลี่ยนการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จมี 4 ปัจจัย ได้แก่ 1) ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน 2) ความพร้อมของปัจจัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม 3) การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) การเรียนรู้และศึกษาข้อมูลทางด้านการบริหารจัดการทั้งด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ทั้งนี้ หากท่านสนใจรายละเอียดผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2650 และ 0 5532 2658 หรืออีเมล์ [email protected]