นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่านโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 และโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้เริ่มทยอยโอนเงินให้เกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ประกอบไปด้วย โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต2565/66 (โครงการไร่ละพัน) เป็นเงินกว่า 52,394 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 4.49 ล้านครัวเรือน และโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 1 – 9 เป็นจำนวนเงินกว่า 7,471.59 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 2.6 ล้านครัวเรือน
และในวันนี้ ( 21 ธ.ค. 65 ) ธ.ก.ส. ได้ทำการโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกรผ่านมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 แก่เกษตรกรอีกกว่า 182,727 ครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน 1,122.39 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 (โครงการไร่ละพัน) ครั้งที่ 3 เป็นเงินกว่า 903.44 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 111,973 ครัวเรือน และโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 งวดที่ 10 และงวดที่ 1 – 9 (เพิ่มเติม) เป็นเงินกว่า 218.95 ล้านบาท และมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 70,754 ครัวเรือน
เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile และ A-Mobile Plus ตลอด 24 ชั่วโมงและจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ สำหรับเกษตรกรที่มีข้อสอบถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ Call Center 02 555 0555
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรที่จะมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 กับกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จะจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชยส่งให้ ธ.ก.ส. ประมวลผลเพื่อดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว
สำหรับการประกันราคา คือ การที่รัฐบาลกำหนดราคาให้เกษตรกรรู้ล่วงหน้าว่าในเดือนที่จะขายสินค้าเกษตรนั้น เกษตรกรสามารถที่จะขายผลผลิตได้ราคาเท่าใด แล้วหากราคาตลาดที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า“ราคาประกัน” รัฐบาล จะจ่ายเงินชดเชยให้เท่ากับส่วนต่างของราคาที่ประกันไว้กับราคาตลาดที่เกษตรกรขายได้ทั้งนี้เกษตรกรต้องมาจดทะเบียนการประกันราคากับ ธกส.
ปัญหาที่สำคัญของการประกันราคาข้าวคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางที่สามารถเก็บรักษาสินค้าเกษตรของตนไว้ได้ ขณะเดียวกันผลผลิตสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ออกตามฤดูกาล ทำให้ผลผลิตออกมาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเกษตรกรไม่มียุ้งฉางที่จะจัดเก็บ จึงต้องขายให้กับพ่อค้าคนกลางและมีโอกาสที่จะถูกกดราคามากและท้ายที่สุดรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากไปชดเชยราคาให้กับเกษตรกร