นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ในระยะ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดซื้อขาย”มันเส้น”ตามแนวชายแดนกลับมาคึกคัก เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศเพื่อนบ้านเริ่มทยอยออกสู่ตลาด จึงได้สั่งการให้เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่คุมเข้มตรวจสอบมาตรฐาน”มันเส้น”นำเข้า ตามแนวชายแดนที่เป็นจุดนำเข้ามันเส้นจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด โดยผลจากการลงพื้นที่ล่าสุด พบผู้ประกอบการ 2 ราย นำเข้ามันเส้นไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จึงลงโทษโดยการพักทะเบียนจนกว่าจะนำมันเส้นที่ถูกตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปปรับปรุงจนได้มาตรฐานตามที่กำหนดจึงจะกลับมานำเข้าได้
ทั้งนี้ กรมฯ ซึ่งกำกับดูแลมาตรฐานมันเส้นนำเข้า ยังได้ผนึกกำลังกับกรมการค้าภายใน (คน.) ซึ่งกำกับดูแลการขนย้ายมันเส้น เช่น เส้นทางการวิ่งของรถบรรทุกมันเส้นจากต้นทางถึงปลายทางและน้ำหนักบรรทุก เป็นต้น เพื่อยกระดับการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่สายตรวจในพื้นที่จะประสานและแชร์ข้อมูลกันเมื่อเจ้าหน้าที่มีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นก็จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะดำเนินการอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อเข้มงวดคุณภาพมาตรฐานทั้งมันเส้นนำเข้าและส่งออก ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่ฤดูกาลหัวมันสำปะหลังทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านออกสู่ตลาดจำนวนมาก จึงขอเตือนผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออกให้เคร่งครัดการรับซื้อมันเส้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หากพบผู้กระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป”นายรณรงค์กล่าว
สำหรับหัวมันสด ส่วนหนึ่งจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลัง และอีกส่วนหนึ่งจะเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันชิ้น และมันอัดเม็ด โดยที่สินค้าแป้งมันสำปะหลังดิบ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นสินค้ามาตรฐาน ซึ่งตามกฎหมายมาตรฐานสินค้า กำหนดให้การส่งออกทุกล็อตจะต้องได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเพื่อใช้ประกอบพิธีการศุลกากร เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังจากประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มันเส้น เป็นอาหารสัตว์อีกประเภทหนึ่ง และเป็นที่นิยมของเกษตรกรที่เลี้ยงโค มีการใช้มันสำปะหลังในรูปมันเส้นและมันอัดเม็ดในสูตรอาหารสัตว์ชนิดต่าง ๆ มันเส้นและมันอัดเม็ดมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบอาหารประเภทเดียวกัน เช่น ข้าวโพดหรือปลายข้าว การใช้มันสำปะหลังในการเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตสัตว์ให้ต่ำลง
แม้มันเส้นจะมีโปรตีนน้อยแต่มันเส้นก็มีความปลอดภัยจากสารพิษอะฟลาทอกซิน ซึ่งสารนี้มักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและการให้ผลผลิตของสัตว์ ในอดีตมันเส้นยังไม่เป็นที่นิยมใช้ในสูตรอาหารสัตว์ ทั้งที่ประเทศไทยส่งมันเส้นที่ผลิตได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไปขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในต่างประเทศ เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้มันเส้นในสูตรอาหารอย่างถูกต้อง
การที่จะได้มันเส้นที่ดีต้องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในฤดูแล้ง และเมื่อขุดหัวมันสำปะหลังแล้วต้องตัดหัวแต่ละหัวแยกออกจากเหง้าหรือส่วนโคนออกอย่าให้เหลือ เพราะจะทำให้ย่อยยาก จากนั้นทำความสะอาดหัวมันสำปะหลังโดยการเคาะดินที่ติดมาให้หมด ซึ่งสามารถเอาเปลือกนอกของหัวมันออกได้ จากนั้นสับหัวมันขนาดชิ้นพอเหมาะ การสับนี้สามารถสับด้วยมือหรือเครื่องจักรก็ได้ แล้วตากให้แห้งซึ่งจะต้องแห้งสนิทจึงจะสามารถนำมันสำปะหลังที่ตากแห้งแล้วนั้นเข้าเครื่องบดหรือเครื่องผสมอาหาร
โดยสรุปขั้นตอนการทำมันเส้น หั่นมันสำปะหลังเป็นชิ้นเล็ก ๆ และผึ่งแดดให้แห้งอย่างน้อย 3-4 แดด เนื่องจากในมันสำปะหลังสดจะมี“สารไซยาโนเจนิคไกลโคไซด์” เป็นสารที่ปลดปล่อยกรดไฮโดรไซยานิค ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ได้
การตากแดดและสต็อกมันเส้นเป็นเวลานานจะทำให้สารพิษในมันเส้นลดลง อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ ในทางกลับกันมันสำปะหลังที่มีกรดไฮโดรไซยานิคในระดับต่ำกลับมีประโยชน์ เมื่อสัตว์ได้รับเข้าไปในร่างกายจะเปลี่ยนไปเป็นสารไทโอไซยาเนต ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งในวัตถุดิบอื่นไม่มี มันเส้นที่ใช้เลี้ยงสัตว์ควรเป็นมันเส้นที่มีคุณภาพดี หรือมันเส้นสะอาด ที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 13 ระดับเยื่อใยไม่เกินร้อยละ 3.50-4.00 มีการปนเปื้อนของทรายไม่เกินร้อยละ 2 และมีแป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 70