“พาณิชย์”เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 10 จ่ายชดเชย 4 ชนิด ยกเว้นข้าวเปลือกเหนียวที่ราคาทะลุเป้าหมาย เผยข้าวเปลือกหอมมะลิรับสูงสุด ตามด้วยข้าวเปลือกเจ้า และธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ พร้อมแจ้งเกษตรกรขอให้ตรวจสอบบัญชีเงิรฝาก คิดต่อ ธ.ก.ส. เพื่อป้องกันความผิดพลาด ย้ำจะเดินหน้าตรวจสอบการรับซื้อข้าว เครื่องชั่งต่อเนื่อง
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 งวดที่ 10 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 10-16 ธ.ค.2565 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเจ้า ส่วนข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย
สำหรับการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง งวดที่ 10 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ เกณฑ์กลางตันละ 13,924.10 บาท ชดเชยตันละ 1,075.90 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 15,062.60 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,401.24 บาท ชดเชยตันละ 598.76 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 9,580.16 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 10,711.69 บาท ชดเชยตันละ 288.31 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 7,207.75 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 9,503.11 บาท ชดเชยตันละ 496.89 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 14,906.70 บาท และข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,226.11 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาเป้าหมายที่ตันละ 12,000 บาท จึงไม่มีการชดเชยส่วนต่างในงวดนี้
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินให้เกษตรกรภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 21 ธ.ค.2565
ส่วนผลการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ณ วันที่ 15 ธ.ค.2565 ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว ในงวดที่ 1-9 สำหรับเกษตรกรที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวภายในวันที่ 9 ธ.ค. 2565 จำนวน 2.479 ล้านครัวเรือน โดยขอให้เกษตรกรตรวจสอบบัญชีเงินฝากและติดต่อกับ ธ.ก.ส เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการรับเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการ เช่น กรณีปัญหา ชื่อ-สกุล ไม่ตรง บัญชีปิด บัญชีถูกอายัด หรือหากยังไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. ขอให้เกษตรกรที่ติดต่อเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ เพื่อ ธ.ก.ส. จะได้ดำเนินการโอนเงินให้แก่เกษตรกรได้ต่อไป
นายอุดม กล่าวว่า สถานการณ์ซื้อขายข้าวเปลือกในช่วงนี้ ราคาโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากส่งออกในปีนี้ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่าสิ้นปีจะส่งออกได้ 7.8-7.9 ล้านตัน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในฤดูกาลผลิตนี้จะยังคงอยู่ในระดับที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา
“กรมฯ ได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ และการตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569”นายอุดมกล่าว
โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 ได้ประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน