วันที่ 16 ธันวาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลความสำเร็จของโครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม (Thai – German Climate Programme – Agriculture) ซึ่งส่งเสริมการปลูกข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 915,053 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยและเยอรมนี ทั้งกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ซึ่งมีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนการเกษตร ทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัดเข้ารับการฝึกอบรมการผลิตข้าวยั่งยืนของโครงการฯ จำนวนมากถึง 30,389 ราย ใน 6 จังหวัดนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี โดยเน้นการเพิ่มองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีมาใช้และเรียนรู้วิธีการการตรวจวัด และการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร เพิ่มพื้นที่ “การทำนาข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” และเพื่อเป็นแนวทางส่งต่อการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรในภาคเกษตรรุ่นใหม่
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ยกระดับภาคการเกษตรผ่านการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับข้าวยั่งยืน(Thai Agricultural Standard for Sustainable Rice: TAS) ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการปลูกข้าว การดูแล การจัดการโรคข้าว เพื่อส่งเสริมให้นำวิธีการปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการจัดเก็บสินค้าข้าว ผลักดันให้ข้าวไทยเป็นสินค้าเกษตรมีคุณภาพ มีมาตรฐานสากล และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือที่ล้วนทำให้เกิดประโยชน์ต่อโลก ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่โลกต้องร่วมมือกัน โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไทยให้ความสำคัญ ได้นำมาใช้ประโยชน์ และผลักดันอย่างต่อเนื่องคือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ทั้งนี้ นายกฯเข้าใจดีว่าความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจะช่วยภาคเกษตรกรรมให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนรวมทั้งการพัฒนานี้ จะเพิ่มโอกาสให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องวิถีทำนารูปแบบใหม่ ลดก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและคุณภาพได้ตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ” นายอนุชาฯ กล่าว
โครงการความร่วมมือไทยเยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรฯ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับนักวิจัยด้านข้าวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ และเรียนรู้วิธีการการตรวจวัด และการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติผ่านการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เป็นการวางพื้นฐานบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยระบบ MRV สำหรับการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบบิ๊กดาต้า และติดตามความก้าวหน้าของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว และนำมาสู่การพัฒนาคู่มือการจัดทำระบบ MRV ในภาคข้าว เพื่อเป็นแนวทางส่งต่อการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรในภาคเกษตรรุ่นใหม่
ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินโครงการ (พ.ศ 2561-2565) มีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนการเกษตรทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัดเข้ารับการฝึกอบรมการผลิตข้าวยั่งยืนของโครงการ เป็นจำนวนมากถึง 30,389 ราย ใน 6 จังหวัดนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี เพื่อขับเคลื่อนแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าวตามมาตรฐานสากลและการนำเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมาปรับใช้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น