นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน ที่ถือเป็นผลไม้ยอดนิยม ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์วิธีการเลือกซื้อทุเรียนไทย โดยล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคในต่างประเทศอย่างถูกต้อง
จากผลความสำเร็จของการส่งออกและพัฒนาคุณภาพผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยข้อมูลการส่งออกทุเรียนไทยในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 90 ซึ่งทุเรียนไทยสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 82,805 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณส่งออก 779,206 ตัน (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 24 พฤศจิกายน 2565)
ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สานต่อความเชื่อมั่นและความสำเร็จดังกล่าว โดยล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการผ่านทูตเกษตรทั้ง 11 แห่ง ใน 8 ประเทศที่เป็นประเทศเป้าหมายของผู้บริโภคทุเรียนไทย ได้แก่ จีน (ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กว่างโจว) ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา (วอชิงตัน ดี.ซี., ลอสแอนเจลิส) สหภาพยุโรป อิตาลี และรัสเซีย ให้สร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ มาตรฐาน และให้ความรู้ถึงวิธีการเลือกทุเรียนคุณภาพจากประเทศไทย
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่นเดียวกัน รวมไปถึงจะเฝ้าระวังติดตามข่าวสารในสื่อออนไลน์และสื่อต่างๆ หากพบประเด็นกระทบต่อผลไม้ไทยให้ตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนทันที
ทั้งนี้ วิธีการเลือกซื้อทุเรียนไทยให้ได้คุณภาพ ใช้การพิจารณาจากลักษณะภายนอกเป็นหลัก มีจุดสังเกต5 จุด ได้แก่ 1. ปากปลิง ต้องบวมโต เห็นรอยต่อได้อย่างชัดเจน 2. ก้านผลต้องมีความแข็งแรง สีน้ำตาลเข้ม สัมผัสแล้วสากมือ 3. ร่องหนามห่าง เมื่อบีบเข้าหากันจะรู้สึกว่ามีสปริง 4. ปลายหนามแห้ง สีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย และ 5. พูต้องสามารถสังเกตรอยแยกกลางพูได้อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ดูแลการทำงานเพื่อส่งออกผลไม้ไทยอย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลเห็นถึงศักยภาพและโอกาสของตลาดผลไม้ไทยในต่างประเทศ ซึ่งทุเรียนไทยเป็นอีกความสำเร็จ สะท้อนประสิทธิภาพของการบริหารจัดการการส่งออกผลไม้ สามารถยกระดับคุณภาพและมาตรฐานจนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565-2570 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลไม้ไทยให้ครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต ขนส่งและส่งออกผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการพัฒนาผลไม้ไทยร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทยในอนาคต