แม้สัปดาห์ที่ผ่านมา จะมี “ข่าวร้าย” สำหรับวงการค้าข้าวของไทย จากการที่ “ข้าวหอมมะลิ” เสียแชมป์ “ข้าวที่ดีที่สุดในโลก” ให้กับ “ข้าวผกาลำดวน” ของ “กัมพูชา” คาบ้านตัวเอง ในการจัดประกวดข้าวโลกปี 2565 ที่ จ.ภูเก็ต
สำหรับ “เหตุผล” ที่ทำให้ไทยต้องเสียแชมป์ เพราะข้าวหอมมะลิไทย มี “กลิ่นหอม” น้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่ “คุณภาพข้าว” และ “รสชาติ” ดีเหมือนกัน
แล้วที่ “แพ้” ก็แพ้ “เฉียดฉิว” เพียงแค่ “1 คะแนน” เท่านั้น
ส่วนอันดับ ที่ 3 เป็นข้าวหอมจาก “เวียดนาม” และอันดับที่ 4 เป็นข้าวหอมจาก “สปป.ลาว”
ลองย้อนกลับไปดู “การประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก” ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 14 ครั้ง ไทย “คว้าแชมป์” มาได้ถึง 7 ครั้ง
เริ่มจากปี 2552 “ข้าวหอมมะลิไทย” ประเดิมคว้าแชมป์ได้เป็น “ประเทศแรก” ในโลก ปี 2553 “ป้องกันแชมป์” ไว้ได้ ปี 2554 “เสียแชมป์” ให้กับเมียนมา ปี 2555 “กัมพูชา” ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ ปี 2556 “กัมพูชา” เป็นแชมป์ร่วมกับ “สหรัฐฯ” ปี 2557 “ไทย” กลับมาเป็นแชมป์ แต่เป็นแชมป์ร่วมกับ “กัมพูชา” ปี 2558 “สหรัฐฯ” เป็นแชมป์ ปี 2559 “ไทย” ทวงแชมป์กลับมาได้ ปี 2560 “ไทย” ป้องกันแชมป์ได้ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 ปี 2561 “ไทย” เสียแชมป์ให้กับ “กัมพูชา” ปี 2562 “เวียดนาม” ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ครั้งแรก ปี 2563 “ไทย” พลิกกลับมาเป็นแชมป์ ปี 2564 “ไทย” ป้องกันแชมป์ได้ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 และปี 2565 “ไทย” เสียแชมป์ให้กับ “กัมพูชา“
นับจนถึงตอนนี้ “ไทย” ก็ยังเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะเป็นแชมป์มากกว่า แต่จากการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง “กระทรวงพาณิชย์” พบว่า ไม่ได้ “นิ่งนอนใจ” หรือทำเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” จากการที่ประเทศคู่แข่ง “หายใจรดต้นคอ” เข้ามาติด ๆ
เรื่องนี้ “นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” พูดชัดเจนว่า ไทย “ไม่ได้นิ่งเฉย” มีการ “เตรียมแผน” และ “เตรียมการ” รับมือไว้ล่วงหน้ามานานแล้ว
ตอนนี้ มี “ยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี” ทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 ตั้งเป้า “ไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก”
ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-67 มีพันธกิจสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการตลาดต่างประเทศ มุ่งตอบสนองความต้องการข้าวที่หลากหลาย 2.ด้านการตลาดภายในประเทศ มุ่งสร้างสมดุลการบริโภคและการผลิต 3.ด้านนการผลิต มุ่งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และเพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ 12 สายพันธุ์ และ 4.ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว มุ่งการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมจากข้าว
นายกีรติ บอกว่า เมื่อช่วงต้นปี 2565 ไทยพัฒนา “ข้าวพันธุ์ใหม่” ได้แล้ว 6 สายพันธุ์ เป็นข้าวหอม ข้าวพื้นนุ่ม และข้าวพื้นแข็ง ไม่ปลายปีนี้ ก็ต้นปีหน้า จะได้อีก 6 สายพันธุ์ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถ “ตอบสนอง” ความต้องการของตลาดได้
ส่วน “การเสียแชมป์” ข้าวที่ดีที่สุดในโลกให้กับ “กัมพูชา” ไม่มี “ผลกระทบ” ต่อการ “ส่งออกข้าว” ของไทย เพราะ “ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า” ยังคงให้ “ความเชื่อมั่น” ต่อข้าวไทย ทั้งในด้าน “คุณภาพ มาตรฐาน การส่งมอบ” ที่ผู้ส่งออกไทยมีชื่อเสียงในการทำธุรกิจและได้รับความเชื่อมั่น
ไม่เพียงแค่นั้น “กระทรวงพาณิชย์” ยังมีแผน “ทำตลาดข้าว” เพื่อ “เพิ่มโอกาส” ในการส่งออกข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด พบว่า “กรมการค้าต่างประเทศ” ได้จัดทำ “แผนประชาสัมพันธ์ข้าวไทย ปี 2566” เสร็จสิ้นแล้ว
“นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” ให้ข้อมูลไว้ว่า “แผนทำตลาดข้าวปี 2566” จะเน้นรูปแบบ “รัฐหนุนเอกชนนำ” ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์”
แผนที่ว่า จะร่วมมือกับผู้ส่งออกข้าวจัด “กิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวไทย” เพื่อ “รักษา” และ “ขยาย” ตลาดในกลุ่ม “ลูกค้าเดิม” และแสวงหา “กลุ่มลูกค้าใหม่”
มีกิจกรรมที่จะดำเนินการ เช่น การกระชับ “ความสัมพันธ์” และ “สร้างความเชื่อมั่น” กับ “คู่ค้าสำคัญ” อย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบการประชุมทางไกลกับฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อิรัก และญี่ปุ่น เป็นต้น
มีแผน “เข้าร่วม” งานแสดงสินค้านานาชาติทั้งในประเทศ เพื่อแนะนำข้าวไทย ได้แก่ Thaifex Anuga ASIA 2023 และในต่างประเทศ ได้แก่ งาน Summer Fancy Food Show ณ สหรัฐฯ งาน GULFFOOD 2023 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งาน FOOFEX 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งาน China–ASEAN Expoครั้งที่ 20 (CAEXPO) 2023 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน Fine Food 2023 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
มีแผนทำตลาด “กลุ่มลูกค้าหลัก” เช่น จีน แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ และเบนิน รวมทั้ง “กลุ่มลูกค้าเดิม” ที่หันกลับมาสั่งซื้อข้าวไทย เช่น อิรัก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนจัด “การประชุมข้าวนานาชาติ” หรือ Thailand Rice Convention 2023 เพื่อ “สร้างความร่วมมือด้านการค้า” และ “เจรจาธุรกิจ” ระหว่างผู้ส่งออกข้าวและผู้นำเข้าข้าวจากทั่วโลก
จากแผน “การทำตลาด” ที่ชัดเจน บวกกับ “ความต้องการ” ข้าวไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “กระทรวงพาณิชย์” และ “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” ได้ทำการ “ประเมิน” ร่วมกันแล้ว คาดว่า “การส่งออกข้าว” ในปี 2566 น่าจะ “ทำได้” ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่คาดว่าจะทำได้ 7.5 ล้านตัน
เป็น “คำมั่น คำยืนยัน” จาก “พาณิชย์-เอกชน” ที่ทำงานในรูปแบบ “รัฐหนุนเอกชนนำ”
ไม่สนว่า ไทยเพิ่งเสียแชมป์มาหมาด ๆ
สนเพียงแค่ จะแก้ “จุดด้อย” และเพิ่ม “จุดเด่น” เพื่อให้ “ข้าวไทย” ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดโลก
โดยมี “เดิมพัน” คือ “เป้าหมาย” การส่งออกข้าวปี 2566 ที่ตั้งไว้ที่ 8 ล้านตัน
ขอให้ “ทำสำเร็จ” ตามที่ “ตั้งเป้า” เอาไว้
เพราะ “ข้าวไทย” ไม่แพ้ “ชาติใด” ในโลกอยู่แล้ว
ที่มา-เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์