ด้วยเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน มีทำเลที่ตั้งติดกับอาเซียน จึงได้รับการกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ให้เป็น Gateway ที่จีนจะใช้ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียนในทุกมิติ (Gateway to ASEAN) และในบริบทที่เขตฯ กว่างซีจ้วงมีมณฑลชั้นนำด้านการเกษตรในจีน ดังนั้น ความร่วมมือด้าน ‘เกษตร’ จึงเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือที่สำคัญของกว่างซีกับอาเซียน ที่สำคัญมีความเกี่ยวข้องกับประเด็น ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ (Food Security) ด้วย
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศใช้ “ข้อบัญญัติว่าด้วยการผลักดันและส่งเสริมฟื้นฟูชนบท เขตฯ กว่างซีจ้วง” ซึ่งสาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุถึง การส่งเสริมให้ภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและขยายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการเกษตรกับนานาประเทศในกรอบข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI)
อาทิ การจัดตั้งเขตสาธิตความร่วมมือด้านการเกษตรและสถานีทดลองการเพาะปลูกพืชพันธุ์ดีในอาเซียน การบ่มเพาะวิสาหกิจด้านการเกษตรที่พร้อมสำหรับการ ‘ก้าวออกไป’ การยกระดับการแลกเปลี่ยนด้านพันธุ์พืชใหม่และเทคโนโลยีสมัยใหม่ การสนับสนุนการค้าในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนมาแปรรูปในพื้นที่และการค้าสินค้านำเข้าจากอาเซียน
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการเร่งพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ (smart agriculture) การผลักดันการก่อสร้างโรงงานเกษตรอัจฉริยะและฐานการเกษตรดิจิทัล การปรับปรุงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเดิมสู่ความเป็นดิจิทัล การส่งเสริมการฝึกอบรมด้านเทคนิคให้กับเกษตรกร และการยกระดับการผลิตภาคการเกษตรสู่ความเป็นดิจิทัล
การ ‘ก้าวออกไป’ ภาคการเกษตรของกว่างซี ด้วยการจัดตั้งเขตสาธิตและสถานีทดลองในต่างประเทศ เพื่อผลักดันการพัฒนาเชิงบูรณาการด้านการเกษตร ตลอดจนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีการเกษตรหลายปีมานี้ กว่างซีได้ทยอยออกไปสร้าง “เขตสาธิตความร่วมมือทางการเกษตรในต่างประเทศ” แล้วจำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมในประเทศเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และมอริเตเนีย รวมทั้งได้สร้าง “เขตทดลองความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกด้านการเกษตร” จำนวน 3 แห่งในพื้นที่ชายแดนกว่างซี-เวียดนาม เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้วิสาหกิจรวมกลุ่มเพื่อ ‘ก้าวออกไป’
ขณะเดียวกัน ได้สร้าง “สถานีทดลองการเพาะปลูกพืชพันธุ์ดีในอาเซียน” จำนวน 5 แห่ง ใน สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยได้นำพืชผักและข้าวพันธุ์ดีไปปลูกในอาเซียนแล้วมากกว่า 800 ชนิด มีพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชพันธุ์ดีรวมกว่า 1.66 ล้านไร่ และสถานีทดลองการเพาะปลูกพืชพันธุ์ดีในกว่างซีอีก 7 แห่ง และได้นำเข้าผักบุ้ง 2 พันธุ์จากเวียดนามมาทดลองปลูกในแปลงกักกันแล้ว 2 ครั้ง
การพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘ความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอก’ ภาคการเกษตร ด้วยการจัดฟอรัมการประชุมและนิทรรศการความร่วมมือด้านการเกษตรกับต่างประเทศ รวมถึงกิจกรรมจับคู่การค้าสินค้าเกษตรระหว่างกว่างซีกับอาเซียน
อย่างเช่น บทบาทของศูนย์ Lancang – Mekong Agricultural Cooperation Center, Guangxi Sub-branch ได้ไปพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ใน สปป.ลาว รวมทั้งได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และบริษัทด้านการเกษตร เพื่อขอรับการสนับสนุนภายใต้โครงการกองทุนความร่วมมือแห่งเอเชีย ครอบคลุมด้านการร่วมกันป้องกันและควบคุมโรคระบาดในพืชและสัตว์ เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตข้าวแบบปลอดสารพิษ การเพาะกระบือนม และการการอนุรักษ์ทรัพยากรต้นชาโบราณ (Camellia sinensis)
การ ‘เชิญเข้ามา’ ในกว่างซี เขตฯ กว่างซีจ้วงได้ส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของธุรกิจที่มีชื่อเสียงด้านการเกษตรจากต่างประเทศ อาทิ เครือบริษัทซีพีของไทย และบริษัท NAANDANJAIN (China) Agricultural Science and Technology จากอิสราเอล
นอกจากนี้ เมื่อปี 2558 บริษัท Gaoming Agricultural (高明农业) ประสบความสำเร็จในการนำกิ่งพันธุ์แท้ “ส้มโอทับทิมสยาม” เข้ามาทดลองปลูกในกว่างซีด้วยกระบวนการเสียบยอดที่ลำต้นบนต้นตอ (rootstock) ที่มีความทนทานต่อโรคและแมลง จนกระทั่งได้ต้นพันธุ์ส้มโอที่ได้คุณภาพและเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศจีน และได้นำเสนอให้เกษตรกรชาวสวนส้มในกว่างซีหันมาปลูก “ส้มโอทับทิมสยาม” ให้มากขึ้นด้วย
การพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการเกษตรให้เข้มแข็ง กว่างซีได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการเกษตรกับหลายประเทศ อาทิ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และบรูไน โดยเฉพาะกับเวียดนามที่มีพรมแดนติดกัน สองฝ่ายได้สร้างกลไกการประชุมหารือร่วมกัน มีการจัดตั้งสถานีทดลองเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ และแลกเปลี่ยนความร่วมมือเชิงเทคนิคด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ การพัฒนาความร่วมมือด้านการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะในข้าว ผ่านรูปแบบการมอบอุปกรณ์เฉพาะด้าน การแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เทคนิค รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
การจัดคณะเกษตรเพื่อเดินทางไปแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีการเกษตรในต่างประเทศ อาทิ อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส โมร็อกโก ไทย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมบทบาทของศูนย์ฝึกอบรมด้านการเกษตรจีน-อาเซียน ในการบ่มเพาะบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการบริหารจัดการด้านการเกษตร
“ข้าว” ถือเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญในการสานต่อความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกว่างซีกับอาเซียน และในบริบทความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ให้คำนิยามของคำว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ อันประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ การมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์จากอาหาร และ การมีเสถียรภาพด้านอาหาร จากข้อมูลของ The Economist Intelligence Unit เกี่ยวกับดัชนีความมั่นคงทางด้านอาหารโลกในปี 2564 (Global Food Security Index 2021) ชี้ว่า ประเทศจีนอยู่ในลำดับที่ 25 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 ของโลกจากทั้งหมด 113 ประเทศ
เมื่อ 20 ตุลาคม 2565 สำนักงานอาหารและปัจจัยสำรองเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Food and Strategic Reserves Administration/广西粮食和物资储备局) เปิดเผยว่า กว่างซีในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตข้าว (ข้าวอินดิกา หรือข้าวเจ้า) ที่สำคัญในพื้นที่จีนตอนใต้ กว่างซีกำลังใช้ข้อได้เปรียบจากที่ตั้งติดกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็น ‘ข้อต่อ’ วงจรเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน หรือ Dual Circulation ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอาหารที่มุ่งสู่อาเซียนของจีน
ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดี 4.16 ล้านไร่ มีกำลังการผลิตข้าวพันธุ์ดีได้ปีละ 4 ล้านตัน โดยจำหน่ายไปยังที่มณฑลกวางตุ้ง และเมืองฮ่องกงมากกว่า 1 ล้านตันในทุกปี และ ‘ข้าวหอมกว่างซี’ อยู่ในบัญชีรายชื่อแบรนด์สาธารณะกลุ่มสินค้าธัญพืชและน้ำมันที่ทรงอิทธิพลในประเทศจีนด้วย ขณะเดียวกัน เขตฯ กว่างซีจ้วงได้ดำเนินมาตรการสำรองอาหารและปัจจัยสำรองในช่วงหลายปีมานี้ มีวิสาหกิจที่สามารถสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหารในกรณีฉุกเฉิน จำนวน 2,106 ราย และมีคลังเก็บธัญพืชที่ใช้ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะอยู่มากกว่า 80 แห่ง
ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองของเขตฯ กว่างซีจ้วงในการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรกับอาเซียน คือ การพัฒนาช่องทางการนำเข้า-ส่งออกธัญพืชและข้าวกับอาเซียนให้มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะโอกาสในอนาคตจากการพัฒนา “คลองขนส่งผิงลู่” ที่เชื่อมท่าเรือชินโจวในอ่าวตังเกี๋ยกับนครหนานหนิงของกว่างซี(ปัจจุบัน กว่างซีมีด่านที่ได้รับอนุมัติการนำเข้าธัญพืชหลายแห่ง เช่น ด่านท่าเรือชินโจว ท่าเรือเป๋ยไห่ ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ด่านท่าเรือแม่น้ำอู๋โจว ด่านท่าเรือแม่น้ำกุ้ยก่าง และด่านทางบกสุยโข่ว)
กว่างซีจะมุ่งส่งเสริมให้วิสาหกิจกว่างซี ‘ก้าวออกไป’ สร้างฐานสาธิตการผลิตข้าวในประเทศสมาชิกอาเซียน พัฒนาความร่วมมือด้านการเพาะปลูกและแปรรูปธัญพืช รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) ในการพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกด้านการสำรองอาหารและปัจจัยสำรองไว้ในยามฉุกเฉินร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน
เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนสินค้ากับอาเซียน กว่างซีจะใช้ประโยชน์จากนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ธัญพืชกว่างซี (จีน-อาเซียน) และศูนย์กลางการค้าธัญพืชและน้ำมันที่สร้างขึ้นด้วยเงินลงทุนราว 2,500 ล้านหยวน ซึ่งปัจจุบัน คลังสินค้าเฟสแรกได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว และคาดหมายว่า หลังจากที่โครงการก่อสร้างเสร็จสิ้นทั้งหมด นิคมแห่งนี้จะเป็นศูนย์โลจิสติกส์ธัญพืชที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยในระดับสากล และเป็นฐานการลำเลียงอาหารและธัญพืชจากภาคใต้ยังภาคเหนือของจีน และเป็น Hub ที่อาหารและธัญพืชจากอาเซียนเข้าสู่ตลาดจีนอีกด้วย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่า การส่งเสริมความร่วมมือภาคการเกษตรของกว่างซีกับอาเซียน โดยเฉพาะการสนับสนุนการ ‘ก้าวออกไป’ ของธุรกิจกว่างซี และการ ‘เชิญ(ธุรกิจต่างชาติ)เข้ามา’ ลงทุนด้านการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรในกว่างซี เป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย ทั้งโอกาสทางการค้า (การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร) โอกาสทางการลงทุน (การลงทุนโดยใช้ทรัพยากรที่เป็นจุดแข็งในท้องถิ่น การลงทุนโดยใช้ประโยชน์ในโครงสร้างพื้นฐาน/แพลตฟอร์มที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อต่อยอดธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นในจีน) และโอกาสทางการวิจัย (เทคโนโลยีทางการเกษตร การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช และการฝึกอบรมบุคลากรภาคการเกษตร) รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้าน ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ กับวิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นานาประเทศทั่วโลกกำลังเตรียมพร้อมรับมืออยู่ในขณะนี้ด้วย