21 พฤศจิกายน 2565 ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการการต่างประเทศและอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะเป็นวันของชาวนา เริ่ม 22 พ.ย.จะได้ 2 เด้งทั้งค่าส่วนต่างกับค่าไถหว่าน โดยจากการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาแล้วนั้น การดำเนินงานตามระบบจากนี้ คือ
1.ทางกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในได้เคาะราคาส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.65 เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรหลังครม. มีมติตามระเบียบ
2.ทาง ธ.ก.ส. หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษรจะจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงเริ่มตั้งแต่ 22 พ.ย.นี้กว่า 4.7 ล้านครัวเรือน
3.ทางธ.ก.ส.จะจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ สำหรับการช่วยค่าไถหว่านเข้าบัญชีเกษตรโดยตรงด้วย
4.ทางรองนายกรัฐมนตรีนายจุรินทร์ พร้อมเดินหน้าโครงการประกันรายได้ปี 4 หลังทำมาแล้ว 3 ปี
5.นโยบายนี้จะเดินหน้าร่วมกับมาตรการคู่ขนานอื่น ๆ เพื่อผลักดันราคาข้าวให้ขึ้นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากทั้งมาตรการเก็บข้าวในยุ้งฉาง มาตรการช่วยดอกเบี้ยสหกรณ์ โรงสี เพื่อการรับซื้อข้าวชาวนาอย่างเป็นธรรม
6.นายจุรินทร์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้อธิบดีกรมการค้าภายในกำหนดการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อพิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2565 ได้อนุมัติให้เดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 และด้วยราคาเกณฑ์กลางแต่ละช่วงได้ประชุมกันมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงการคลัง ดังนั้นที่จะต้องเริ่มได้ตั้งแต่เดือนตุลาก็ดำเนินการโอนย้อนหลังให้ทั้งหมด โดยจะกำหนดราคาส่วนต่างที่จะต้องจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นงวดแรก และพิจารณางวดถัดไปที่จะจ่ายทุก 7 วัน รวมจ่ายทั้งสิ้น 33 งวดจนจบโครงการ
“สำหรับการประกันรายได้ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคประชาธิปัตย์ ที่บรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องหนึ่งในนั้นคือ โครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวดูแลข้าวเปลือก 5 ชนิด กำหนดราคาประกันรายได้และจำนวนสิทธิดังนี้คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท รายละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน
และนายจุรินทร์ยังได้เตรียมการเพื่อเดินหน้ามาตรการคู่ขนานที่จะช่วยดึงราคาข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก โดยมี 3 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการชะลอขาย โดยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจัดเก็บไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน โดยรัฐบาลช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน 2.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมของสหกรณ์ โดยช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ไม่เกิน 12 เดือน และ 3.มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกและเก็บสต็อก เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน ซึ่งรัฐจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ” ดร.มัลลิกา กล่าว
ดร.มัลลิกา กล่าวด้วยว่า สำหรับค่าช่วยไถหว่านหรือโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท กำหนดไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง และคาดว่าการจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้และเงินการช่วยไถหว่านไร่ละ 1,000 บาท ธ.ก.ส. จะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.2565 เป็นต้นไป
“จึงขอให้เกษตรกรตรวจสอบชื่อบัญชี ธ.ก.ส. ให้ตรงกับชื่อที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เรามีประสบการณ์มา3ปีแล้วถ้าคนใดยังติดขัดอะไรให้เข้าไปที่ ธ.ก.ส.พื้นที่ได้เลยโดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกอำเภอทุกแห่งหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบลในพื้นที่ได้เลย ” ดร.มัลลิกา ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว