ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปี 2566 คาดว่าจะย่อตัวลงได้บ้างเมื่อเทียบกับปี 2565 จากปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองในปีเพาะปลูก 2022/2023 ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของผู้ผลิตหลักอย่าง บราซิล ปริมาณการผลิตและส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอาร์เจนตินา แต่ด้วยต้นทุนการผลิตในระดับสูง โดยเฉพาะราคาปุ๋ย พลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนและความไม่แน่นอนของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน อาจส่งผลให้ระดับราคาถั่วเหลืองโลกปรับลดลงได้จำกัด ท่ามกลางอุปสงค์ถั่วเหลืองโลกที่ยังโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจีน สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อใช้ในประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต พลังงานทางเลือก รวมถึงการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
ขณะที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองในสัดส่วนที่สูงราว 99% ของปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีบราซิลเป็นแหล่งนำเข้าหลัก จึงคาดว่าราคานำเข้าถั่วเหลืองของไทยน่าจะมีทิศทางสอดรับไปกับราคาถั่วเหลืองในตลาดโลก อีกทั้งค่าเงินบาทไทยที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่า ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2565 ต่อเนื่องไปถึงปี 2566 ทิศทางราคาถั่วเหลืองนำเข้าของไทยจากโลกน่าจะยังยืนตัวสูง โดยปี 2566 ราคาถั่วเหลืองนำเข้าของไทยน่าจะอยู่ที่ 600-700 ดอลลาร์/ตัน เทียบกับปี 2565 ที่คาดว่าจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 650 ดอลลาร์/ตัน ถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ ความต้องการใช้ถั่วเหลืองในไทยในปี 2566 คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการหลักจากธุรกิจแปรรูปถั่วเหลืองอย่างน้ำมันพืชจากถั่วเหลืองเพื่อป้อนความต้องการลูกค้าปลายน้ำ ทั้งจากภาคครัวเรือนและธุรกิจ Food Service ที่ทยอยฟื้นตัวทั้งกลุ่มร้านอาหาร/ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงความต้องการจากตลาดส่งออกน้ำมันพืช ที่คาดว่าจะยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง
ดังนั้น ด้วยความต้องการใช้ถั่วเหลืองที่ยังเติบโต ท่ามกลางราคาถั่วเหลืองที่ยืนตัวสูง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการจะยังเผชิญกับภาระต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ (ถั่วเหลืองนำเข้า)รวมถึงต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ในประเทศที่มีแนวโน้มขยับขึ้น อาทิ ค่าพลังงาน (ไฟฟ้า-ขนส่ง) ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น โดยระดับของผลกระทบอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสัดส่วนโครงสร้างต้นทุนและความยืดหยุ่นในการปรับตัว เช่น ธุรกิจผลิตน้ำมันพืชจากถั่วเหลือง อาจมีข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบทดแทน ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การปรับขึ้นราคาจำหน่ายก็ทำได้จำกัดจากการเป็นสินค้าควบคุม และมีสินค้าทดแทนในตลาดที่มีราคาต่ำกว่า (น้ำมันปาล์ม) ส่วนธุรกิจอาหารสัตว์อาจปรับตัวโดยการเปลี่ยนสูตรอาหารไปใช้ธัญพืชอื่นทดแทนได้บ้าง แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับสูตรอาหารและปริมาณสารอาหารที่สัตว์จะได้รับในระดับใกล้เคียงกับวัตถุดิบเดิม เป็นต้น
หากมองต่อไปในระยะข้างหน้า ต้นทุนการผลิตของธุรกิจที่พึ่งพาถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว น้ำนมถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง (อาหารสัตว์) หรือถั่วเหลืองสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช เป็นต้น ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่แน่นอนและมีความผันผวนสูง จากต้นทุนการผลิตของธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น สภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่อาจกระทบต่อปริมาณผลผลิต รวมถึงทิศทางของราคาธัญพืชในตลาดโลกที่ยังถูกกดดันจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและวางแผนรับมือสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปลูกถั่วเหลืองปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10 พันธุ์ ปรับปรุงโดยกรมวิชาการเกษตร คือ สจ.4 สจ.5 สุโขทัย 1 สุโขทัย 2 สุโขทัย 3 นครสวรรค์ 1 เชียงใหม่ 60 เชียงใหม่ 2 เชียงใหม่ 3 เชียงใหม่ 4 ถั่วเหลืองที่สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองขึ้นมาใหม่ คือ “พันธุ์ศรีสำโรง 1” ซึ่งให้ผลผลิตสูง มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ทั้งยังสามารถต้านทานโรคราน้ำค้างได้ดี สำหรับพันธุ์ สจ.4 สจ.5 และ เชียงใหม่ 60 เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั้งนี้ในประเทศไทยสามารถปลูกถั่วเหลืองได้ทั้งปี ปีละ 3 ฤดู ปัจจุบันการผลิตถั่วเหลืองในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้องมีการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ