สุราษฎร์ฯ เตรียมเดินหน้าขยายผลสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วน บริโภค”ข้าวหอมไชยา” และผลักดันสู่การรับรองมาตรฐาน GI

วันที่15 พ.ย. 65) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านการขับเคลื่อน “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)” มาขยายผลสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และการลงมือปฏิบัติจนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้น้อมนำพระราชดำริดังกล่าว มาบูรณาการร่วมกับส่วนราชการและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชควบคู่การอนุรักษ์ภูมิปัญญา วิถีชีวิตของประชาชนที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด สุราษฎร์ธานี ได้กล่าวถึง“ข้าวหอมไชยา” และว่า เป็นชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกในทุ่งนาพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งมีการเล่าขานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายกันว่า “เมื่อข้าวออกรวงมีกลิ่นหอมไปทั่วทุ่ง เวลาหุง หอมไปทั่วบ้าน”

4 2
ข้าวหอมไชยา

โดยในปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา มีสมาชิกจำนวน 25 คน ดำเนินการปลูกข้าวหอมไชยาในพื้นที่ตำบลโมถ่าย ป่าเว ทุ่ง และตำบลเลม็ด รวมพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ให้ความสำคัญและมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมไชยาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ภายใต้ชื่อ “โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมไชยา” มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ ส่งเสริมการผลิตข้าวหอมไชยา ซึ่งกำลังจะสูญหายไป ให้เป็นที่รู้จัก และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวนา อันเป็นหมุดหมายสำคัญที่เป็นหนึ่งในการสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

โดยให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ข้าวหอมไชยา” รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยภาคีเครือข่าย อาทิ “ภาครัฐ” ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการคัดเลือกเพื่อหาสายพันธุ์ข้าวหอมไชยาแท้ พร้อมได้สนับสนุนเครื่องซีนสุญญากาศ และเครื่องคัดข้าว สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีสนับสนุน เครื่องทำขนมทองม้วน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้พัฒนาต่อยอดขนมทองม้วนให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และสร้างช่องทางการจำหน่าย “ภาควิชาการ” มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีสนับสนุน เครื่องอบแห้ง วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับสนับสนุนโรงสีข้าวขนาดเล็ก เป็นต้น” นายวิชวุทย์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้ ตนได้มอบหมายให้นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา เป็นประธานกิจกรรม “เก็บเกี่ยวข้าวร่วมใจ กินข้าวใหม่ หอมไชยา” โดยมี หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่อำเภอไชยา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโมถ่าย คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นตำบลโมถ่าย และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ข้าวหอมไชยา การคัดเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวเพื่อแจกจ่ายขยายพื้นที่ให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป การทำขนมทองม้วน การแปรรูปข้าวเป็นข้าวหลามเพื่อรับประทานร่วมกัน

ด้านนายพูนศักดิ์ สาระคง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา กล่าวว่า ขอบคุณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนในด้านการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของชาวไชยา ซึ่งเมืองไชยา เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ในอดีต เป็นเมืองที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ ตนเองได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ “พันธุ์ข้าวหอมไชยา” ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่เป็นอัตลักษณ์ในเรื่องข้าวของพื้นที่อำเภอไชยา ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรชาวนาให้ความสนใจในการปลูกข้าวหอมไชยาน้อย เกรงว่าจะสูญพันธุ์ได้ จึงหาทางอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา และที่สำคัญมีความตั้งใจที่จะสานต่อตามโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวขึ้น ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อทำการปลูกข้าวหอมไชยา ซึ่งจากเดิม มีเพียง 70 ไร่ สมาชิก 13 ราย ปัจจุบันมีการปลูกเพิ่มเป็น 100 ไร่ มีสมาชิกรวม 25 ราย โดยทั่วไปข้าวหอมไชยามีลักษณะลำต้นที่สูง แข็งแรง มีโรคน้อย ไม่ต้องใช้สารเคมีจึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

“กิจกรรม “เก็บเกี่ยวข้าวร่วมใจ กินข้าวใหม่ หอมไชยา” นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีแล้ว ยังเป็นการสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับมวลมนุษย์ชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคีของพี่น้องประชาชน ทั้งยังเป็นการรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่ ด้วยการไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีในการบำรุงต้นข้าว บำรุงดินอีกด้วย

ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะได้นำองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวชนิดนี้ มาบูรณาการวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการเสริมสร้างความรับรู้เข้าใจและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน เด็ก เยาวชน ได้รับรู้ถึงคุณลักษณะที่โดดเด่นของพันธุ์ข้าวหอมไชยาและหันมาบริโภค ตลอดจนส่งเสริมให้มีการปลูกข้าว หอมไชยา ให้มากขึ้น พร้อมทั้งเตรียมผลักดันให้ได้รับรองข้าวหอมไชยา GI เป็นการอนุรักษ์อาชีพการทำนาและข้าวหอมไชยาให้คงอยู่สืบไป” นายวิชวุทย์ฯ กล่าวในช่วงท้าย