กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาจัดหาทุเรียนในไทยส่งไปที่ประเทศปลายทางทั้ง “HJ” /กลุ่มสอง “THK” /กลุ่มสาม “YK” /กลุ่มสี่ “HZ” /กลุ่ม 5 “K” และกลุ่มที่ 6 คือ “TFH” จนกลายเป็นผู้กุมตลาด-ราคา-ชะตาชีวิตชาวสวนผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ ถูกตั้งคำถามถึงเม็ดเงินจากต่างประเทศที่ถูกโอนเข้ามาทำธุกรรมในการซื้อ-ขาย แท้จริงแล้ว มาจากไหน
เราได้มีโอกาสนั่งคุยและสอบถามข้อมูลกับผู้ส่งออกรายหนึ่ง จนเค้าให้ข้อมูลว่า เงินทุนที่นำมาทำธุรกิจส่งออกทุเรียนจากไทยไปยังประเทศปลายทาง แท้จริงแล้วเป็นเงินทุนของต่างชาติทั้งหมด การสั่งซื้อสินค้า(ทุเรียน) ให้จัดส่งไปจะโอนเงินสดจากต่างประเทศเข้ามา
กระบวนการการโอนเงิน จะเป็นการทำสัญญาซื้อ-ขายเป็นล็อตๆ ตามคำสั่งซื้อ เช่น ต้องการทุเรียน 10 ตันผู้ประกอบการต้นทางก็จะจัดหาทุเรียนให้ตามจำนวน พร้อมแจ้งราคาไปยังปลายทาง จากนั้นไม่เกิน 1 วันก็จะมีการโอนเงินจากต่างประเทศเข้ามาฝั่งไทยตามสัญญา หรือข้อตกลง เมื่อได้เงินแล้วก็จะมีการจัดส่งทุเรียนออกไปตามกระบวนการ (กรณีที่ยังไม่มีการตรวจความเข้มข้นของคุณภาพก่อนหน้านี้ จะมีทุเรียนอ่อนปนออกไปจำนวนมาก)
แต่ข้อมูลจากผู้ส่งออกทุเรียนรายหนึ่ง แจ้งว่า ที่ผ่านมากลุ่มทุนต่างประเทศที่มาลงทุนทำทุเรียนในไทย(บางกลุ่ม) กำลังถูกประเทศต้นทางของพวกเค้าตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน และการเสียภาษีจากประเทศนั้นๆ
ผู้ส่งออกทุเรียนรายดังกล่าว ยังบอกอีกว่า กลุ่มทุนจากต่างประเทศ(บางกลุ่ม) นอกจากสายสัมพันธ์แนบแน่นกับการเมือง(บางกลุ่ม) / ข้าราชการ(บางกลุ่ม) / คนไทย(บางกลุ่ม) พวกเค้ายังใช้งานกลุ่มคนไทยในภาคเหนือที่มีเชื้อสายเดียวกันในการทำทุเรียนส่งออก และกลุ่มทุนจากภาคเหนือ(บางคน) ก็ถูกจับตาเป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน และพฤติกรรมในการทำธุรกิจ เพราะต้องสงสัยหลายอย่าง
ข้อมูลของทีมเล็บเหยี่ยวฯ ยังพบพฤติกรรมคนไทยจากภาคเหนือ(บางคน) น่าสงสัยมากของที่มาแหล่งเงินและพฤติกรรม เพราะจากปี 2564 เคยมีกรณี จนท.เข้าไปตรวจสอบทุเรียนก่อนบรรจุส่งออกกับผู้ประกอบการ 1 ราย ใน จ.จันทบุรี ที่มาจากภาคเหนือเชื้อสายเดียวกับประเทศที่สั่งทุเรียน แล้วปรากฏว่า สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประกอบการจนมีการขัดขวางไม่ให้ตรวจสอบ
และผู้ประกอบการรายนี้ก็ต้องสงสัยอยู่ในขบวนการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย เพราะข้อมูลในทางลับที่ทีมเล็บเหยี่ยวฯ ได้มา เคยมีการนำทุเรียนจากต่างประเทศเข้ามาที่โรงคัดบรรจุแห่งนี้แล้วแพ็คส่งบรรจุในนามทุเรียนไทย เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบกลับไม่พบทุเรียน พบเพียงกล่องบรรจุทุเรียนที่บ่งบอกว่ามาจากต่างประเทศ จนท.จึงเอาผิดไม่ได้เพราะไม่เจอของ จึงได้แต่เพียงจับตา และต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ
ปี 2564 ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 งัดไม้เด็ดดัดหลังผู้ประกอบการที่ชอบค้าทุเรียนอ่อน เพื่อปรามกลุ่มคนเหล่านั้น และได้มีการจัดลำดับสีผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
สีเขียว ผู้ประกอบการทำถูกกติกา
สีเหลือง ผู้ประกอบการที่ต้องเฝ้าระวัง
สีแดง ผู้ประกอบการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ในจำนวน 3 สี พบว่า ผู้ประกอบการสีเขียว จำนวน 176 แห่ง / ผู้ประกอบการสีเหลือง จำนวน 50 แห่งและผู้ประกอบการสีเเดง จำนวน 32 แห่ง และยังมีการประกาศรายชื่อผู้ประกอบการยอดเยี่ยมภาคตะวันออก โดย จ.จันทบุรี มี 19 แห่ง / ตราด มี 1 แห่ง และ จ.ระยอง 4 แห่ง พร้อมกับมอบประกาศให้
นี่จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุ ที่ทำให้บางกลุ่มซึ่งถูกขึ้นบัญชีไม่พอใจจากมาตรการนี้ เพราะการปฏิบัติในลักษณะนี้ทำให้ชาวสวนที่เคยเป็นคู่ค้ากับผู้ประกอบการสีที่ถูกจับตา เปลี่ยนใจไม่ขายให้ ที่สำคัญผู้ประกอบการสีทีาถูกจับตา เป็นทุนจากต่างประเทศกลุ่มเดียวกัน แต่ใช้วิธีการแตกสาขา
วงการทุเรียน มักจะมีตำพูดเสมอว่า “เมื่อลงสนามแข่งขัน ต้องยอมรับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่แข็งพอคุณก็จะเป็นผู้แพ้”
นั่นจึงอาจจะเป็นการส่งสัญญาณนัยๆ ว่า ธุรกิจวงการนี้ผู้เล่นจะต้องครบเครื่อง ทั้งเงินทุน สายสัมพันธ์ทุกระดับ และการเอาตัวรอด
“เสก บูรพา”
โปรดติดตามตอนต่อไป EP : 4