Krungthai COMPASS จับชีพจรทุเรียนไทย เสี่ยงตกบัลลังก์ หลัง “จีนปลูกเองได้-หลายประเทศส่งออกแข่ง” คาดเอฟเฟ็กต์แนวโน้มมาร์เก็ตแชร์ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนลดลงต่อเนื่อง คาดผลกระทบส่งออกทุเรียนของไทยไปจีน ช่วงปี 2568-2573 รวมกันราว 2 แสนล้านบาท หรือตกปีละประมาณ 1.7-5.7 หมื่นล้านบาท
Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย นำเสนอบทวิเคราะห์ “จับชีพจรทุเรียนไทย จะโดนโค่นบัลลังก์หรือไม่? หลังศึกแย่งชิงตลาดจีนดุเดือด” โดยประเมินว่า ตลาดส่งออกทุเรียนไทยไปจีนจะขยายตัว 19.3%CAGR (2565-2573) เป็น 22,162 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ในปี 2573 จากปัจจุบันที่ราว 1.2 แสนล้านบาท จากความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนมีแนวโน้มลดลงจาก 95.9% ในปี 2564 เหลือ 90.4% และ 88.1% ในปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ จากการที่จีนสามารถปลูกทุเรียนได้เองและการส่งออกทุเรียนของประเทศคู่แข่งไปจีนมากขึ้น ได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบประมาณ1.7-5.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2568-2573
โดยปัจจัยใดที่ทำให้การส่งออกทุเรียนไทยเริ่มสั่นคลอน ได้แก่ แนวโน้มผลผลิตทุเรียนโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2564) ผลผลิตทุเรียนโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.3 แสนตันต่อปีตามความต้องการบริโภคทุเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดจีน ทำให้ประเทศที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกทุเรียนเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตเชิงการค้ามากขึ้น ทั้งไทย และประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยในปี 2564 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนจำนวน 8.52 แสนไร่ หรือเพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่หันมาปลูกทุเรียนแทนพืชอื่นเช่น ยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น
ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนการปลูกทุเรียนเพื่อส่งออก ทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการขนส่ง ส่วนอินโดนีเซียและเวียดนามก็มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเป็นวงกว้าง
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ภายในปี 2568 ผลผลิตทุเรียนของไทยจะแซงหน้าอินโดนีเซีย และในปี 2573 ผลผลิตทุเรียนของไทยอาจเพิ่มขึ้นถึง 4.2 เท่าสู่ระดับ 5.05 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตทุเรียนของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามมีแนวโน้มอยู่ที่ 4.05 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 3 เท่า) 0.72 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น1.7 เท่า) และ 3.44 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 5.4 เท่า) ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตทุเรียนโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การแข่งขันในตลาดส่งออกรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ดี จีนประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียน โดยความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนหันมาทดลองปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียน โดยปัจจุบัน เกษตรกรจีนสามารถปลูกทุเรียนสำเร็จ และคาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนจีนออกสู่ตลาดมากขึ้น เกษตรกรมณฑลกวางตุ้งประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงและพันธุ์หนามดำ โดยมีพื้นที่ทดลองปลูกทุเรียนประมาณ 41.66 ไร่ เริ่มทดลองปลูกตั้งแต่ปี 2561 และคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือน ต.ค. 2565
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักวิจัยไม้ผลเขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน คาดว่ามณฑลไห่หนานมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนประมาณ 12,500 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ต้นกล้าที่มาจากไทยมาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ปี 2567 ประมาณปีละ 45,000-75,000 ตันคิดเป็นสัดส่วนราว 5-9% ของปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทย ทั้งนี้ หากผลผลิตทุเรียนจีนที่จะออกสู่ตลาดในระยะแรกมีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อาจทำให้ทางการจีนขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็นวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากไทย
อีกปัจจัยก็คือ ต้นทุนการผลิตทุเรียนของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยไทยจะเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาของทุเรียนที่สูงขึ้น เนื่องจากไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง อาจกระทบต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม เห็นได้จากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท/วัน หลังจากภาครัฐปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาท/วัน
นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสียเปรียบด้านต้นทุนการขนส่งทุเรียนไปจีนที่สูงกว่าเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีพรมแดนที่ติดกับจีน ทำให้การขนส่งทุเรียนของเวียดนามไปจีนใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมงขณะที่ทุเรียนของไทยจะขนส่งทางบกผ่านเส้นทางลาวและเวียดนามไปจีน ซึ่งใช้ระยะเวลาในการขนส่งประมาณ 2-3 วัน ทำให้ราคาขายส่งทุเรียนของไทยสูงกว่าทุเรียนของเวียดนามประมาณ 50 บาท/กก. ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของทุเรียนไทยในตลาดจีนต่ำกว่าทุเรียนของเวียดนาม
สำหรับในแง่ผลกระทบ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในระยะสั้น (ปี 2565-2566) กรณีที่จีนปลูกทุเรียนสำเร็จจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีน เนื่องจากปริมาณผลผลิตทุเรียนของจีนที่จะออกสู่ตลาดยังน้อยมาก โดยผลผลิตทุเรียนพันธุ์มูซานคิงและพันธุ์หนามดำที่จีนทดลองปลูกสำเร็จที่มณฑลกวางตุ้งตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือน ต.ค. 2565 อยู่ที่ประมาณ150-250 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.03% ของปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทยเท่านั้น ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซียและเวียดนามยังมีส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนน้อยกว่าไทยมาก คิดเป็นสัดส่วน3.9% และ 0.1% ของการนำเข้าทุเรียนของจีน
ปัจจุบัน ไทยครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนมากที่สุดถึง 95.9% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีนขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซียและเวียดนาม แม้จะยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่าไทยมาก แต่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น เห็นได้จากส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนของมาเลเซียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากทุเรียนพันธุ์มูซานคิงของมาเลเซียได้รับความนิยมจากชาวจีน แม้จะมีราคาที่สูงกว่าทุเรียนไทยเกือบ 4 เท่า จากการเร่งทำการตลาดที่มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ทุเรียนระดับพรีเมียม
ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนได้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2565 นับเป็นประเทศที่ 2 รองจากไทยที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปจีน ทำให้ในระยะข้างหน้าการส่งออกทุเรียนของไทยจะเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น และอาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนด้วย
ส่วนในระยะกลาง-ยาว (ปี 2567-2573) การส่งออกทุเรียนของไทยจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีน แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่
-กรณี Best Case: ผลผลิตทุเรียนของจีนจะโตจำกัดที่ราว 2% ต่อปี เนื่องจากผลผลิตทุเรียนของจีนที่ออกสู่ตลาดในระยะแรกยังมีคุณภาพไม่สูงนัก ขณะที่ผลผลิตทุเรียนของมาเลเซีย และเวียดนามจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ราว 2% และ 4.5% ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนมีแนวโน้มลดลงจาก 95.9% ในปี 2564 เหลือ 91.8% และ 92.7% ในปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ
-กรณี Base Case: ผลผลิตทุเรียนของจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ราว 8.5% ต่อปี ตามอัตราการเติบโตเฉลี่ยของผลผลิตทุเรียนโลก เนื่องจากยังมีข้อจำกัดของการขยายพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่ผลผลิตทุเรียนของมาเลเซีย และเวียดนามจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ราว 5.2% และ 20.5% ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนมีแนวโน้มลดลงจาก 95.9% ในปี 2564 เหลือ 90.4% และ 88.1% ในปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ
-กรณี Worst Case: ผลผลิตทุเรียนของจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ราว 20% ต่อปี เนื่องจากผลผลิตทุเรียนของจีนที่ออกสู่ตลาดในระยะแรกมีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค จึงคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนของจีนจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 4,000 ไร่ต่อปี ในมณฑลกวางตุ้งและมณฑลไห่หนานเท่านั้นเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ผลผลิตทุเรียนของมาเลเซีย และเวียดนามจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ราว 8% และ 30% ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนมีแนวโน้มลดลงจาก95.9% ในปี 2564 เหลือ 88.4% และ 81.4% ในปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ
Krungthai COMPASS ประเมินว่าส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีน (Base Case) จากการขยายการส่งออกทุเรียนของประเทศคู่แข่งไปตลาดจีนมากขึ้น รวมถึงกรณีที่จีนปลูกทุเรียนสำเร็จ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนมีแนวโน้มลดลงจาก 95.9% ในปี 2564 เหลือ 90.4% และ 88.1% ในปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีนในช่วงปี 2568-2573 รวมกันอยู่ที่กว่า 6.32 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS แนะนำ หากผู้ประกอบการปลูกและค้าทุเรียนต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนควรใช้หลัก D-U-R-I-A-N ได้แก่
D – Develop พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกและบรรจุภัณฑ์
U – Unique นำเสนอเอกลักษณ์ของทุเรียนไทย
R – Research เน้นการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้มีคุณภาพ
I – Improve ปรับปรุงต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งขยายช่องทางการขายทุเรียนไทยผ่านระบบ e-Commerce มากขึ้น
A – Assurance ภาครัฐควรมีบทบาทในการสร้างความเชื่อมั่นของระบบการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานทุเรียน และ N – New market ขยายการส่งออกทุเรียนไปตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการส่งออกที่กระจุกตัวในตลาดจีน