นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI “น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่” จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนานทั้งคุณภาพรสชาติและอัตลักษณ์โดดเด่นที่เกิดจากการปลูกในสภาพดินแดงซึ่งเป็นดินที่เหมาะต่อการปลูกน้อยหน่ามากที่สุด ส่งผลให้น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ มีรสชาติหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอมละมุน เนื้อละเอียด เหนียว เมล็ดเล็ก ทำให้ได้รับความนิยมสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมากว่า 51 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมามีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 11 สินค้า ประกอบด้วย กาแฟดงมะไฟ กาแฟวังน้ำเขียว ไวน์เขาใหญ่ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ มะขามเทศเพชรโนนไทย ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ผ้าไหมปักธงชัย เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย และน้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ เป็นจังหวัดต้นแบบในการนำระบบ GI มายกระดับสินค้าท้องถิ่นจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ หมายถึง น้อยหน่าสายพันธุ์น้อยหน่าฝ้าย น้อยหน่าหนังและน้อยหน่าลูกผสมหรืออะติมัวย่า
โดยลักษณะสายพันธุ์น้อยหน่าฝ้าย มีลักษณะตาแคบ ร่องตาลึก เปลือกผลสีเขียว เนื้อสีขาวละเอียดครีม กลิ่นหอม รสหวาน
สายพันธุ์น้อยหน่าหนัง มีลักษณะตากว้าง ร่องตาตื้น เปลือกผลสีเขียว เนื้อสีขาวละเอียดเหนียว เปลือกร่อนได้ง่าย
สายพันธุ์น้อยหน่าลูกผสมหรืออะติมัวย่า มีลักษณะผลใหญ่ รูปหัวใจ ผิวค่อนข้างเรียบมีร่องตาตื้นคล้ายน้อยหน่าหนัง เปลือกผิวสีเขียวอ่อนเปลือกบางลอกจากเนื้อได้ง่าย เนื้อเหนียว กลิ่นหอมรสชาติหวาน
สำหรับ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่น ๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical Indication) เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ โดยตรง เช่น ไชยา เพชรบูรณ์ เป็นต้น
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ ซึ่งใช้เพื่อบ่งบอกแหล่งภูมิศาสตร์อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตของสินค้า เช่น สัญลักษณ์ประจำอำเภอ หรือจังหวัด รูปย่าโม รูปหอไอเฟลเป็นต้น
เงื่อนไขการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
สินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มักจะเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษหรือมีลักษณะเฉพาะที่เกิดจากอิทธิพลสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น สภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ ตลอดจนทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ ประกอบด้วย
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีความแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตที่อาศัยอยู่ในสถานที่หรือแหล่งภูมิศาสตร์ และผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นเท่านั้น ที่มีสิทธิผลิตสินค้าดังกล่าวโดยใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์นั้นได้ ผู้ผลิตคนอื่นที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้ สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สิทธิชุมชน” ซึ่งไม่สามารถนำสิทธิที่ได้รับไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ต่อได้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์เท่านั้นที่มีสิทธิใช้