นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง(ฉบับที่…)พ.ศ…. ที่จะมีการเสนอเป็นระเบียบวาระเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ว่า ประชาธิปัตย์ สนับสนุนกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ไม่สนับสนุนกัญชาเสรี อันนี้ถือว่าเป็นจุดยืน เพราะฉะนั้นรายละเอียดต่อมาก็จะใช้หลักนี้ในการพิจารณาต่อไปในการดำเนินการ
“กัญชาทางการแพทย์นั้นเป็นประโยชน์ แต่กัญชาเสรี อย่างน้อยที่สุดมันจะสร้างปัญหาให้กับอนาคตของประเทศระยะยาว อันนี้จึงเป็นที่มาที่เราบอกชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนกัญชาเสรี แต่สนับสนุนกัญชาที่จะไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวย้ำ
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ที่จะมีกับพรรคภูมิใจไทยอย่างไรนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนคิดว่าหลักใหญ่ก็คือเราต้องคำนึงถึงประโยชน์ของอนาคตประเทศโดยภาพรวมเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ในฐานะพรรคร่วม เราก็ทำงานด้วยกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่จุดยืนทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง ทุกพรรคก็ต้องมีจุดยืนที่เป็นของตัวเอง ประชาธิปัตย์ก็มีความชัดเจนในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 9 มิ.ย. 2565 คือวันที่ประเทศไทย “ปลดล็อกกัญชา” ออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 เป็นวันแรก แต่ยังคงเหลือเฉพาะสารสกัดจากกัญชง กัญชาที่มีปริมาณ THC เกิน 0.2% เท่านั้นที่ยังถือเป็นยาเสพติด โดยการปลดล็อกในครั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงได้อย่างเหมาะสม ทั้งปลูกใช้ในครัวเรือน ดูแลผู้ป่วย หรือเชิงพาณิชย์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” อำนวยความสะดวกในการจดแจ้งการปลูกกัญชา กัญชงให้แก่ประชาชนด้วยซึ่งตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมาการปลดล็อกกัญชานั้นก็เกิดเป็นกระแสจนทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นในสังคมอย่างล้นหลาม
โดยหลายองค์กรก็พร้อมใจกันตั้งคำถาม เรียกร้อง หรือแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจจะขึ้นได้ ซึ่งราชวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้ออกแถลงการณ์ที่แสดงถึงข้อกังวลต่อผลกระทบจากกัญชาที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ที่ขอให้รัฐเร่งพิจารณาให้มีมาตรการทางกฎหมาย รวมไปถึงขอให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้มีการบริโภคกัญชาอย่างไม่เหมาะสม
สอดคล้องกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ออกแถลงการณ์จุดยืนเรื่องผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น ที่ระบุไว้ช่วงหนึ่งว่าประชาชนทุกคนในประเทศไทยรวมถึงกลุ่มเปราะบาง นั่นคือเด็กและวัยรุ่นสามารถเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดย “ไม่ผิดกฎหมาย” จากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ส่งผลให้ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย และชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย แสดงถึงความห่วงใยและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นและให้มีคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบ เช่น เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี “ไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา”
รวมไปถึงมหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ออกคำแถลงการณ์คำแนะนำและข้อเสนอแนะของมหาวิทยาลัยฯ โดยแสดงถึงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคม เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 โดยระบุตอนหนึ่งว่า กัญชาเป็นพืชที่มีสารแคนาบินอยด์ (Cannabinoid : CBD) หลายชนิด โดยเฉพาะสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ เพราะอาจทำให้เกิดโทษรุนแรงได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลการใช้กัญชาอย่างรัดกุม รวมไปถึงมีข้อเสนอแนะ เช่น ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี เป็นอันขาด ไม่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ใช้ช่อดอกกัญชาในการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม หากมีส่วนผสมของกัญชาในอาหาร ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจน