ซื้อทุเรียนที่ปารีส ขนกลับไปกินที่เบลเยี่ยม…จะยังกิน(อร่อย)ได้ไหม??? เป็นคำถามที่ต้องลุ้นคำตอบของคนไทยในต่างแดน…อยากให้อ่านเรื่องเล่านี้ให้จบทั้งเกษตรกรและภาครัฐจริงๆ
ทีมข่าว”เรื่องเล่าข่าวเกษตร” ได้พูดคุยกับคุณ บุญธง ก่อมงคลกูล เจ้าของร้านอาหารระดับมิชลิน “Villa Singha” ในประเทศเบลเยี่ยม เล่าเรื่องราวถึงการซื้อ ทุเรียนไทยในฝรั่งเศส ให้เราฟังว่า…
“คืนวันเสาร์มีคำถามว่า…พรุ่งนี้ไปปารีสไหม…เป็นคำถามเหมือนจะไปอยุธยากินกุ้งเผา แต่ก็เดินทางไปปารีสจากบรัสเซลส์บ่อยครั้งแทบจะเดือนละครั้งก็ว่าได้ เป้าหมายคือตัดผม และหาอาหารอร่อยๆ รับประทาน คราวนี้มีเป้าหมายเพิ่มเติมคือ ซื้อทุเรียนกลับมากินสักลูก
เช้าวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 09.00 น. ควบม้าไทคาน(รถคันโปรด)ออกเดินทาง ก่อนถึงสนามบินชาร์ลเดอโกล แวะจอดเติมพลังไฟฟ้าครึ่งชั่วโมง เพราะต้องไปต่อได้อีกเกือบ 300 ก.ม. ถึงจุดหมายเวลา 13.00 น. หลังจากทำผมเสร็จเรียบร้อย ก็มุ่งหน้าไปร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย แถบเขต 13 อเวนูชัวซีร์
สายตาสอดส่องมองหา”ทุเรียน” ที่วางอยู่ท่ามกลางผลไม้หลากหลายจากประเทศเขตร้อน เห็นกล่องทุเรียน วางอยู่สองกล่อง มีกล่องละประมาณ 5-6 ลูก พร้อมสติกเกอร์ติดขั้วและสวมขั้ว ระบุรายละเอียด”ทุเรียนหมอนทอง เกรดพรีเมียม Monthong Premium” เลือกหยิบได้สองลูกที่มีกลิ่นนิดหน่อย มีลายเส้นสำหรับลงมีด หนามดูไม่เล็กมาก ราคาทุเรียน กก.ละ 24.99€ ลูกหนึ่งน้ำหนักสองกิโลกรัมเศษราคา 53.48€ (1930฿) ลูกที่สองน้ำหนักสามกิโลกรัมเศษ ราคา 77.72€ (2,800฿) หยิบใส่ถุงพลาสติกวางท้ายรถ เพื่อนำกลับไปกินที่เบลเยียม
หลังจากนอนค้างคืนวันอาทิตย์ ต่อเช้าวันจันทร์ พากันไปเดินเล่นที่ La Vallée Village แหล่งรวมร้านค้าแบรนด์เนมชานกรุงปารีส จนบ่ายสองจึงกลับขึ้นรถ เพื่อเดินทางกลับเบลเยี่ยม พอเปิดประตูรถ กลิ่นทุเรียนก็หอมตลบอบอวล จนคิดในใจว่า สงสัยกลับถึงบ้านคงสุกเกินไปปลาร้า ต้องทำข้าวเหนียวทุเรียนแทน
ถึงบ้านชานกรุงบรัสเซลส์(เบลเยี่ยม)ประมาณ 22.00 น. ไม่รีรออะไร แกะทุเรียนเป็นอันดับแรก พร้อมกับลุ้นว่า จะต้องทิ้งถังขยะหรือเปล่า??? เพราะปีก่อนๆ ซื้อทุเรียนมากินครั้งใด ไม่เคยได้ทุเรียนแก่จัดและอร่อยเลย เหมือนเอาเงินทิ้งหน้าต่าง(พูดแบบคนเบลเยียม)
หากทว่า ”ทุเรียนที่ซื้อมา กลับแกะง่ายไม่ติดเปลือกและแบะเบาๆ ก็ออกเป็นพลูสวยงาม เนื้อกำลังดี ไม่สุกเกินไป หยิบกินคนละพลู สองพลู หอมละมุน เนื้อหวานมันกำลังดี เม็ดลีบเล็กนิดเดียว ดูรู้ว่าเป็นทุเรียนแก่ เป็นครั้งแรกที่กินทุเรียนแล้วประทับใจ ลองหยิบสติกเกอร์ที่ติดมากับลูกทุเรียน มีข้อความภาษาอังกฤษ “อยู่กับต้น 120 วันจนแก่จัด” ที่หัวขั้วทุเรียนมีสติกเกอร์ติดแน่น ระบุข้อความว่า “For quality problem, Please contact : Plant Standard and Certification Division, Department of Agriculture Thailand พร้อมเบอร์โทรศัพท์ แฟกซ์ และอีเมล อีกด้านมีชื่อ Siam Fresh พร้อมรายละเอียดผู้ส่งออก เป็นครั้งแรกที่พบ”
กินทุเรียนในต่างประเทศ ราคาแพงนั้น เข้าใจได้ เพียงแต่ขอให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพสมราคา มีการรับประกันให้กับผู้บริโภค เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ กล้าที่จะควักเงินซื้อ ไม่ใช่ได้ทุเรียนที่อ่อน กินแล้วไม่มีรสชาติ ต้องทิ้งขยะก็น่าเสียดาย คุณบุญธง ยังได้ฝากถึงหน่วยราชการไทยว่า “ต้องช่วยกันผลักดันการรับประกันคุณภาพสินค้าส่งออกให้มีความน่าเชื่อถือ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มรายได้จากการส่งออก รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจรับทราบด้วยนะครับ”
ขอบคุณ”เรื่องเล่า…เกษตรในต่างแดน”จาก คุณ บุญธง ก่อมงคลกูล
เจ้าของร้านอาหาร “Villa Singha” ในประเทศเบลเยี่ยม