(8 ต.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในการลงพื้นที่ “ผู้ว่าฯ กทม. สัญจร เขตดินแดง” เพื่อรับฟังภาพรวมการบริหารจัดการ ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตว่า เขตดินแดงเป็นเขตที่มีผู้ใช้แรงงาน และชุมชนจำนวนมาก ในส่วนของปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จากการรายงานของเจ้าหน้าที่พบว่าหลายบ้านมีการปลูกกระท่อมและกัญชา โดยประชาชนเชื่อว่าสามารถลดความดันและรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อกินแล้วจะไม่ต้องรักษาตามแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่าได้ผลตามหลักวิทยาศาสตร์หรือไม่ หรือดีขึ้นในแง่จิตใจเท่านั้น รวมทั้งต้องเก็บข้อมูลว่าการใช้แพทย์ทางเลือกกับการลดยาแผนปัจจุบันจะมีผลบวกหรือลบอย่างไร ซึ่งในพื้นที่มีคนใช้แรงงานจำนวนมาก ถือเป็นกลุ่มตัวอย่างหนึ่งที่ศึกษาได้
นอกจากนี้ยังกำชับให้เฝ้าระวังในโรงเรียนด้วย เนื่องจากหลายบ้านทำการปลูกกัญชาและใบกระท่อม จะทำให้เยาวชนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องและข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลความปลอดภัยในการเข้าถึงพื้นที่โรงเรียนและสถานที่อื่นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศต่อนโยบายกัญชาเสรี พบว่า ส่วนใหญ่ 58.3% ไม่เห็นด้วยและ 41.7% เห็นด้วย ซึ่งในส่วนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่คือใช้ทางการแพทย์และสันทนาการ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า 92.2 % กังวลการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชนและกังวลว่าจะเสพติดกัญชาถึง 89.2 % และเห็นว่า เด็กและเยาวชนจะได้รับผลกระทบต่อการเปิดเสรีกัญชาถึง 91.4 % มากที่สุด รองลงมาคือผลกระทบต่อสังคม
นโยบายดูแลเส้นเลือดฝอยเข้มข้น ลดปัญหาน้ำในภาพรวมได้ดี
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำท่วมที่ผ่านมาได้ใช้นโยบายเน้นเส้นเลือดฝอยในพื้นที่ ทำการลอกท่อต่อเนื่อง พบว่าปัญหาน้ำดีขึ้นมาก รวมทั้งได้ให้สำนักการระบายน้ำ ดูแลระบบการระบายน้ำในภาพรวมควบคู่ไปด้วย ในส่วนของเขตดินแดงต้องดูในพื้นที่ด้านหลัง ม.หอการค้าและถนนประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องเฝ้าระวัง
สำหรับแผนการจัดการน้ำ ในขณะนี้ที่กังวลคือฝั่งตะวันออก ซึ่งได้เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำ เพื่อใช้อุโมงค์ระบายน้ำที่นอกพื้นที่ กทม. ในการหารือ กรมชลฯแจ้งว่าจะระบายผ่านประเวศเพื่อออกแปดริ้วโดยกรมชลประทานจะทำคันป้องกันซึ่ง กทม.ก็เห็นด้วย และ กทม.ได้เสนอการทำประตูน้ำ/เขื่อนให้ครบ แบ่งเป็นแผนระยะ 1-2 ส่วนใหญ่อยู่ในแผนการดำเนินงาน ปี 67-68 ในระหว่างปี 66 ก็จะใช้วิธีการขุดลอกเช่นเดิม