พาณิชย์ แจ้งข่าวดีชาวลำพูน “ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน” ได้รับการจดทะเบียน GI ในเวียดนามแล้ว คาดช่วยกระตุ้นส่งออกเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และเพิ่มรายได้ให้ชุมชน เผยเป็นสินค้ารายการที่ 3 ตามหลังเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน มะขามหวานเพชรบูรณ์ ที่ได้รับการจดก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ล่าสุด ไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศแล้วรวม 8 รายการ
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เวียดนามได้ประกาศรับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน จ.ลำพูน ของไทยแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบัน ไทยจดทะเบียน GI ในเวียดนามได้แล้วรวม 3 สินค้า คือ เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ซึ่งเป็นรายการล่าสุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ทำให้ผู้บริโภคต่างชาติมั่นใจในคุณภาพสินค้า เพิ่มมูลค่าให้สินค้าชุมชน และช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น
สำหรับลักษณะเด่นของลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน มีสีเหลืองทอง เนื้อหนา แห้งสนิทไม่ติดกัน รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ สามารถเก็บไว้ได้นานโดยกลิ่นและรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวเวียดนาม และมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น เวียดนาม จีน ฮ่องกง เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้จังหวัดลำพูนมากว่า 100 ปี โดยหลังจากขึ้นทะเบียน GI แล้วสินค้าดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เพราะมีกระบวนการผลิตและระบบควบคุมคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐานทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาดี จากเดิมที่เคยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 550 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 1,500 บาท และยังเป็นผลไม้ที่ใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ ของชาวลำพูน จึงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกวิถีชีวิตความเป็นอยู่เคียงคู่คนลำพูนอย่างแท้จริง
ปัจจุบันไทยมีสินค้า GI ที่ได้รับการจดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 8 รายการ ได้แก่ 1.ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ในสหภาพยุโรป 2.กาแฟดอยช้าง ในสหภาพยุโรป 3.กาแฟดอยตุง ในสหภาพยุโรปและกัมพูชา 4.ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในสหภาพยุโรป 5.เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ในเวียดนาม 6.ผ้าไหมยกดอกลำพูน ในอินเดียและอินโดนีเซีย 7.มะขามหวานเพชรบูรณ์ ในเวียดนาม และ 8.ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ในเวียดนาม
“กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเดินหน้าผลักดันการจดทะเบียนสินค้า GI ไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร ซึ่งเป็น Soft Power สำคัญ ที่จะช่วยโปรโมตสินค้าอาหารและเกษตรของไทยออกสู่สายตาชาวโลก และยังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนด้วย”นายสินิตย์กล่าว