เทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายผลไม้ชั้นนำอย่าง “ฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต” (Chongqing Hongjiu Fruit) ซึ่งครองส่วนแบ่งราวร้อยละ 1 ในตลาดผลไม้ของจีน และจัดจำหน่ายผลไม้สู่เมืองต่างๆ มากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ
ผลไม้ดาวเด่นของฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต คือ “ทุเรียน” ที่ทำกำไรได้ค่อนข้างสูง และถือเป็นกุญแจนำพาบริษัทแห่งนี้ก้าวสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต กลายเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมผลไม้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของจีน
การเข้าตลาดหลักทรัพย์ของฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต ยังถือเป็นฟันเฟืองแห่งความมั่งคั่งของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและไทย โดยไทยจัดเป็นผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพสูง มีภาคตะวันออกและภาคใต้เป็นแหล่งเพาะปลูก ผลผลิตพร้อมจำหน่ายเกือบตลอดปี
เติ้งหงจิ่ว ประธานฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต ผู้ค้าผลไม้มานานกว่า 36 ปี เผยว่าเขาเริ่มทำธุรกิจในตลาดผลไม้ไทยตั้งแต่ปี 2011 จนปัจจุบันมีโรงงานหลายแห่งและจ้างคนงานหลายร้อย และเมื่อปี 2021 บริษัทของเขานำเข้าทุเรียนไทยคิดเป็นร้อยละ 10.06 ของทุเรียนนำเข้าจากไทยทั้งหมดในจีน
นอกจากนั้นเติ้งระบุว่าเมื่อปี 2021 ฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต จำหน่ายทุเรียนกว่า 90,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 33.9 ของยอดจำหน่ายผลไม้ทั้งหมดในปีเดียวกัน และทุเรียนนำเข้าทุก 1 ใน 10 ลูก เป็นของฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุตโดยเขาตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้มากกว่าเดิม
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการทุเรียนของตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาทุเรียนไทยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นด้วย ดังเช่นราคาสูงสุดเคยอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้นับว่ามีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของชาวสวนผลไม้ท้องถิ่นของไทยไม่น้อย
“ปัจจุบันมีสวนมันสำปะหลังเปลี่ยนไปเพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เติ้งกล่าว พร้อมเสริมว่ามีการดำเนินความร่วมมือระยะยาวกับชาวสวนท้องถิ่น โดยชาวสวนบางส่วนยินดีจะจำหน่ายผลผลิตแก่ฉงชิ่งหงจิ่ว ฟรุต มากกว่าโรงงานเล็กๆ ที่ดูธุรกิจไม่มั่นคง
การค้าขายผลไม้ของฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบปัญหาบางประการในการนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะเรื่อง “เวลา” ที่ถือเป็นเงินเป็นทอง เพราะความสดใหม่ย่อมหดหายตามเข็มนาฬิกาที่หมุนวน ดังนั้นระยะเวลาของ “พิธีการศุลกากร” จึงมีนัยสำคัญไม่น้อย
ราชาแห่งผลไม้อย่าง “ทุเรียน” ถือเป็นผลไม้ตัวอย่างที่มีขั้นตอนการจัดการสลับซับซ้อน ตั้งแต่จัดเก็บทำความสะอาด จนถึงขนส่งขั้นสุดท้าย โดยการจัดการส่งออกทุเรียนต้องการผ่านกระบวนการต่างๆ กว่า60 รายการ และยังต้องเสร็จสิ้นภายใน 15 วัน
หลังจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ปีนี้สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนและกรมศุลกากรไทยได้ลงนามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรับรองมาตรฐานเออีโอ (AEO) ร่วมกันเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จีนลงนามเอกสารลักษณะดังกล่าวร่วมกับศุลกากรของประเทศสมาชิกความตกลงฯ
แผนปฏิบัติการดังกล่าวภายใต้ความตกลงฯ มุ่งเอื้ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรแก่ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งนำพาประโยชน์สู่การค้าขายผลไม้ระหว่างจีนและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยิ่งขึ้นที่ถือเป็นผู้ส่งออกผลไม้สู่ตลาดจีนรายใหญ่
ด้าน ฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต นำเข้าผลไม้ส่วนใหญ่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน โดยเฉพาะทุเรียนจากไทยและแก้วมังกรจากเวียดนาม โดยเติ้งยินดีที่บรรดาศุลกากรท้องถิ่นจีนเปิด “ช่องทางด่วน” แก่การนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกความตกลงฯ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาของพิธีการศุลกากรจาก 6-9 วัน เหลือ 2-3 วัน
“ผมหวังว่าอนาคตจะมีการขยับขยายมาตรการสนับสนุนเช่นนี้ไปทั่วประเทศจีน และจะดีที่สุดหากมีการจัดตั้ง ‘ช่องทางทุเรียนด่วน’ ระหว่างจีนและไทย เพื่อการขนส่งทุเรียนไทยสู่จีนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” เติ้งกล่าว
ทั้งนี้ รายได้ทางธุรกิจของฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าขายผลไม้ในจีน เพิ่มขึ้นจาก 2 พันล้านหยวน (ราว 1.05 หมื่นล้านบาท) ในปี 2019 เป็น 1.02 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.33 หมื่นล้านบาท) ในปี2021 โดยมีอัตรการเติบโตรายปีแบบทบต้นอยู่ที่ร้อยละ 112.7
ด้านหน่วยงานพาณิชย์ของฉงชิ่งระบุว่าผลไม้นำเข้า โดยเฉพาะทุเรียน ถือเป็นส่วนสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างฉงชิ่งกับประเทศสมาชิกความตกลงฯ ซึ่งเหล่าผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะยังคงได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อการนำเข้าผลไม้คุณภาพดีและปลุกปั้นฉงชิ่งเป็นศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)