ชาวสวนส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทเฮ … ควบคุมโรคกรีนนิ่ง … ด้วยเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร

ชาวสวนส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทเฮ ใช้ต้นแบบเทคโนโลยีผลิตต้นพันธุ์ส้มโอปลอดโรคกรีนนิ่ง ของกรมวิชาการเกษตร ได้ต้นแบบสวนส้มโอใหม่ที่ปราศจากโรคกรีนนิ่งอย่างแท้จริง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 (สวพ.5) บูรณาการร่วมกับ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (สอพ.) โดย สอพ. สร้างต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์ส้มโอปลอดโรคกรีนนิ่ง โดยการรวบรวมและเก็บรักษาแม่พันธุ์ส้มโอขาวแตงกวาปลอดโรคกรินนิ่งไว้ในโรงเรือนกันแมลง และ ผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคกรีนนิ่งด้วยวิธีติดตา และ สวพ 5 ได้สร้างแปลงต้นแบบการผลิตจากการใช้ต้นพันธุ์ส้มโอขาวแตงกวาปลอดโรคกรีนนิ่ง

1360205

ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาเป็นพืชอัตลักษณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชัยนาท สร้างมูลค่าถึง 94.70 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากมีคุณลักษณะพิเศษที่มีเนื้อแห้ง กรอบ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เปลือกหนา ทนทานต่อการขนส่งทางไกล ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้ลดลง เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีสาเหตุหลักการระบาดของโรคและแมลงศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกรีนนิ่งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำและปริมาณลดลง ปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้นตามลำดับ

โรคกรีนนิ่ง เป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้พืชวงศ์ส้มอย่างรุนแรงทั่วโลก สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Candidatus Liberibacter asiaticus (CLas) แพร่ระบาดโดยติดไปกับต้นพันธุ์และแมลงพาหะ (เพลี้ยไก่แจ้ส้ม) เชื้อสาเหตุโรคอาศัยอยู่ในเซลล์ท่ออาหาร แย่งและขัดขวางการลำเลียงอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ รวมถึงทำลายและยับยั้งการสร้างคลอโรฟิลล์ของใบ ต้นส้มจึงแสดงอาการทรุดโทรม ใบด่างเหลือง อาการคล้ายกับอาการขาดธาตุอาหาร ผลส้มไม่พัฒนาเต็มที่และร่วงก่อนอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม โรคกรีนนิ่งเข้าทำลายต้นส้มได้ทุกระยะ การจัดการโรคกรีนนิ่งอย่างยั่งยืน ได้แก่ การทำลายต้นส้มที่เป็นโรค การควบคุมแมลงพาหะนำโรค และการใช้พันธุ์ปลอดโรคในการสร้างสวนใหม่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในจังหวัดชัยนาทยังคงใช้กิ่งตอนจากสวนของตนเองหรือของเพื่อนบ้านในการปลูกเพื่อสร้างสวนส้มโอแปลงใหม่ จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้โรคนี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และสร้างความเสียหายต่อการผลิตส้มโอขาวแตงกวาในจังหวัดชัยนาทอย่างมาก

1360206

สวพ 5. ได้จัดสร้างโรงเรือนปลูกพืช ที่สามารถป้องกันเพลี้ยไก่แจ้ส้มที่เป็นพาหะนำโรคกรีนนิ่ง และใช้เทคโนโลยีการผลิตพันธุ์ส้มโอปลอดโรคกรีนนิ่ง จาก สอพ. มาใช้เป็นแหล่งตาพันธุ์ในการขยายต้นพันธุ์ปลอดโรค โดยการเตรียมต้นตอจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ส้มแรงเพอร์ไลม์ และ สวิงเกิล ในโรงเรือนกันแมลง เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตขนาดที่เหมาะสมทำการติดตาโดยใช้ตาพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ที่ปลูกไว้ ดูแลรักษาตาพันธุ์ ดูแลรักษาจนตาส้มโอพัฒนาและได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง จึงสุ่มใบส้มโอไปตราจหาเชื้อโรคกรีนนิ่ง หากปลอดเชื้อจะมอบให้เกษตรกรนำไปปลูกในแปลง สามารถผลิตพันธุ์ส้มโอที่ปลอดโรคกรีนนิ่งได้ 565 ต้น

1360207

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ส้มโอที่ปลอดเชื้อโรคกรีนนิ่ง ได้ส่งมอบให้เกษตรกรต้นแบบ จำนวน 4 ราย ไปทดลองปลูกในพื้นที่รวม 10 ไร่ และเกษตรกรที่สนใจนำไปทดลองปลูกอีกจำนวนหนึ่ง ในแปลงต้นแบบมีการสุ่มสำรวจการระบาดของศัตรูพืชทุก 3 เดือน เป็นเวลา 3 ปี ไม่พบการระบาดของเพลี้ยไก่แจ้ส้ม และไม่พบเชื้อ แบคทีเรีย Candidatus Liberibacter asiaticus (CLas) ที่เป็นสาเหตุของโรคกรีนนิ่ง เกษตรกรมีความพอใจในเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร 100 เปอร์เซ็นต์

1360204

การทดสอบชุดเทคโนโลยีใหม่นี้ทำให้ได้ต้นแบบสวนส้มโอใหม่ที่ปลอดโรคกรีนนิ่งอย่างแท้จริง สามารถขยายผลให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในพื้นที่ข้างเคียงได้ เกิดการสร้างเครือข่ายการผลิตส้มโอปลอดโรคกรินนิ่ง โดยไม่ใช้สารปฏิชีวนะซึ่งปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ท้ายที่สุด สวพ5. ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชัยนาทในการขยายผล ภายใต้ภารกิจโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างสวนส้มโอใหม่ โดยใช้ต้นพันธุ์ปลอดโรค ที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคกรีนนิ่งในสวนส้มโอขาวแตงกวา ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป