วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ร่วมการสัมมนาและศึกษาดูงาน เรื่อง “คณะกรรมาธิการกับการแก้ไขปัญหาของประชาชน : ปัญหาการผลิตและจำหน่ายข้าว และการสร้างผลผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP” และศึกษาดูงานเพื่อติดตามมติสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ ในประเด็นแนวทางการบริหารจัดการดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยมีนายอนันต์ ผลอำนวย ประธานคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนา ณ ที่ว่าการอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
ในการนี้ อธิบดีกรมการข้าวได้รับเกียรติเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกับเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกำแพงเพชร นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และตัวแทนเกษตรกร ในการอภิปราย เรื่อง ปัญหาการผลิตและจำหน่ายข้าว และการสร้างผลผลิตข้าวตามมาตฐาน GAP เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ด้านการผลิตข้าวปลอดภัยคุณภาพสูงและเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งการส่งเสริมศักยภาพของชาวนาเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว ผลผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลพลอยได้จากข้าว
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมการข้าวได้ร่วมเยี่ยมชมแปลงสาธิต กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว บ้านตะเคียนงาม พร้อมรับฟังปัญหาและข้อร้องเรียนของเกษตรกรชาวนา ในพื้นที่ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรที่ต้องการให้ได้รับรองมาตรฐานข้าว GAP ต้องไปกรอกใบสมัครที่หน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักเกษตรจังหวัด จากนั้นก็เข้าร่วมการฝึกอบรมจากสำนักงานเกษตรที่เกี่ยวข้อง จะมีการบันทึกข้อมูลและปฏิบัติตามข้อกำหนด GAP และมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจประเมินเบื้องต้น มีคณะทบทวน พิจารณาตัดสินใจให้การรับรอง พอผ่านการรับรองแล้ว ทางกรมการข้าวจึงได้ออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกรที่ผ่านกระบวนการ ที่ถูกต้องทุกขั้นตอน
การผลิตข้าวเพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP นั้น จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวลงพื้นที่เพื่อสำรวจแปลงนาของเกษตรกร ว่าอยู่ในระดับที่ต้องใช้สารเคมีได้หรือยัง หากยังก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสารชีวภัณฑ์ใช้เองก่อนในระดับหนึ่ง แต่ถ้าแปลงนาของเกษตรกรรรายใดอยู่ในระดับที่ต้องใช้สารเคมีก็สามารถใช้สารเคมีได้ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมการข้าว โดยมีการใช้สารเคมีที่ถูกวิธี และเก็บให้ห่างจากที่อยู่อาศัย ที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ทำให้เกษตรกรได้รับสารพิษ และห้ามใช้สารเคมีต้องห้าม ในกระบวนการผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าว GAP
จะเห็นได้ว่าการผลิตข้าวมาตรฐาน GAP เป็นต้นแบบแรงจูงใจให้ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพ ด้วยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งต่อชาวนา ผู้ประกอบการค้าข้าว และผู้บริโภค จะสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกรที่ปลูกข้าว และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการค้าข้าวไทยที่แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นใจ และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอีกด้วย