นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลาและรองโฆษกพรรคภูมิใจไทย ระบุในวาระการหารือปัญหาของประชาชนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาราคายางมา 3 ปีครึ่ง โดยใช้เงินอัดฉีดนโยบายราคายางไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทแต่แก้ไขไม่ตรงจุด ยั่งยืน ว่า ไม่ทราบว่า นายณัฏฐ์ชนน เอาตัวเลข 2 แสนล้านบาทมาจากไหน เพราะจากข้อมูลที่ตนมีอยู่นั้น ปรากฏว่า ตลอดระยะเวลาโครงการจนถึงขณะนี้ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563 ระยะที่ 2 ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564 และระยะที่ 3 ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 นั้น ใช้งบประมาณเพื่อเป็นการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางไปทั้งหมดเกือบ 34,000 ล้านบาทเท่านั้น เลยสงสัยว่า ทำไมถึงอ้างตัวเลขที่สูงขนาดนั้น เพราะเอาเข้าจริง ๆ หากราคายางสูงกว่าราคากลางที่กำหนดเป็นราคาประกันรายได้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินงบประมาณไปอุดหนุนเกษตรกรชาวสวนยางแต่อย่างใด
ที่ผ่านมาทั้งกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ผลักดันนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างเต็มที่ เช่น การเปิดตลาดยางในหลายประเทศ สามารถทำยอดส่งออกได้แต่ละปีเป็นแสนล้านบาท การดำเนินนโยบาย ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ การจัดตั้ง ”ตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงของยางพารา” ซึ่งกำกับดูแลโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการซื้อหายางที่มีคุณภาพ และสามารถกำหนดราคาและวันเวลาซื้อขายได้เอง เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางนั่นก็คือ การเพิ่มอุปสงค์ในการใช้ยางพารา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิต เพื่อเป็นการดึงราคายางให้สูงขึ้น เช่น การนำน้ำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนน ที่เรียกว่า ถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ เพราะมีข้อดีที่พิสูจน์มาแล้วว่า น้ำยางพาราจะมีความยืดหยุ่นตัวมากกว่ายางแอสฟัลท์ ทำให้ผิวถนน รับน้ำหนักได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว และสามารถทนแรงกระแทกรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้มากขึ้น สามารถย่นระยะเวลาการทำถนนให้สั้นลงได้ คุ้มค่าต่อการลงทุน
ปรากฏว่า มีหลายจังหวัดที่มีการนำยางพารามาผสมในการสร้างถนนเป็นถนนต้นแบบหลายจังหวัด เช่น เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด เป็นต้น รวมทั้ง ยังเคยมีข่าวปรากฏว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เอง ก็มีแนวคิดในการสร้างแบริเออร์จากยางพาราแทนการสร้างเกาะกลางถนน รวมทั้ง หลายหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม ก็เริ่มมีการดำเนินการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการสร้างหลักกิโลเมตร เสาหลักกันโค้ง ไปบ้างแล้ว
ดังนั้น หากนายณัฏฐ์ชนน หวังดีกับชาวสวนยางพาราจริง ๆ แล้ว นอกจากช่องทางผ่านการหารือก่อนวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็ควรที่จะแนะนำให้นายศักดิ์สยาม เร่งรัดการก่อสร้างถนน แบริเออร์ หลักกิโลเมตร และเสาหลักกันโค้ง โดยใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสมให้มากขึ้น เพื่อเป็นการดึงราคายางพาราให้สูงขึ้นไปอีก ไม่ใช่ใช้เวทีสภาอ้างว่ามาหารือแต่เป็นการพูดเพื่อพุ่งเป้าให้ชาวสวนยางมีความเข้าใจผิดต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย
“ผมยังแปลกใจอยู่ว่า ทำไมนายณัฏฐ์ชนน ต้องพุ่งเป้ามาทวงเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และเกษตรและสหกรณ์ เหมือนกับ ส.ส.ภาคใต้อีกพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำงานจนเป็นที่พอใจของชาวสวนยาง และยังรักษาเกียรติภูมิของประเทศไทย โดยยังครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลกด้วยปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง 2,190,065 ตัน หลังจากผ่านครึ่งปีแรก รวมทั้ง จากการเปิดเผยของนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ที่ระบุว่า เรื่องของราคายางพาราเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากช่วงนี้ความต้องการใช้ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บวกกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ราคายางในช่วงนี้จะมีการปรับตัวบ้าง แต่ก็เพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ที่นายณัฏฐ์ชนน ออกมาพูดนั้น ก็เป็นเพียงแค่ลูกไม้ที่ก่อนหน้านี้มี ส.ส. ภาคใต้อีกพรรคใช้ คือการด้อยค่าพรรคที่คิดว่าเป็นคู่แข่งในพื้นที่ จนผมรู้สึกเอือมระอา เพราะควรจะต่อสู้กันในเรื่องนโยบายและความนิยมในตัวบุคคล มากกว่าเอาข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาสร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชนอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่ผมเสนอฝากไปยัง นายณัฏฐ์ชนน ในการเร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ นั้น คือ การสร้างถนนหนทาง และส่วนประกอบของถนน ด้วยน้ำยางพาราด้วย ก็จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น” นายชัยชนะกล่าว