กาฬสินธุ์ พร้อมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 4,446 ไร่

ณ ศาลาประชาคม ม.8 ต.บึงวิชัย อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่า ฯจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมประชุมกับคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำโดยนายสุวิทย์ คำดี ที่ปรึกษาประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นางละม่อม สุนทรชัย หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะทำงานระดับอำเภอ ประกอบด้วย เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กำนันผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกรในพื้นที่ ผู้แทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โปรดิวส์ และจนท.ปิดทองหลังพระฯ

รองผู้ว่าฯศุภศิษย์ เน้นย้ำ การดำเนินโครงการด้วยตนเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่เกษตรกร มั่นใจว่าได้ผลตอบแทนดีกว่านาปรัง เป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนแล้วมีรายได้ที่สูงขึ้น

304772666 5530426423663200 319825578075376018 n
เกษตรกรกาฬสินธุ์ พร้อมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา

ที่ปรึกษาประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ นายสุวิทย์ คำดี กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญมาก เกษตรกรต้องตั้งใจฟัง การทำนาที่ผ่านมาราคาต่ำ ไม่มีประกันราคา ผลผลิตล้นตลาด ขาดทุน เกษตรกรก็เห็นอยู่แล้ว ซึ่งการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหลังนามีความต้องการสูง ราคาดี ประเด็นสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรสมัครเข้าโครงการ ฯมีอยู่ 3 เรื่อง 1) การประกันราคา 2)แหล่งรับซื้อใกล้บ้าน 3)ไม่มีทุนก็ทำได้ มีสินเชื่อปัจจัยการผลิตให้ ไม่มีดอกเบี้ยเรื่องน้ำ เรื่องดินไม่ต้องกังวล ชลประทานจะลงไปตรวจแปลงให้พร้อมกับพัฒนาที่ดิน

ด้านกำนันบุญส่ง กล่าวถึง ประสบการณ์ในการปลูกข้าวโพดมากกว่า 20 ปี ที่อ.วังน้ำเขียว นครราชสีมา ไม่เคยมีการประกันราคาจากภาครัฐหรือบริษัทเอกชน เกี่ยวข้าวโพดที่ความชื้น 27% ขายได้ราคา 5-6 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่โครงการนี้รับรองให้เกษตรกร โดยส่วนตัวเชื่อว่าราคาน่าจะสูงกว่า 8.50 บาท ในฤดูกาลนี้หรือปีต่อ ๆ ไป ในการดำเนินปลูกให้ประสบความสำเร็จสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่นั้นต้องใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย ในการพ่นยา ปุ๋ย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเกษตรกรได้กำไรแน่นอน

และตามตัวเลขล่าสุดจากเพจมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์สนใจเข้าร่วมโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ จำนวน 4,446 ไร่ จำนวนเกษตรกร 887 รายจาก 11 อำเภอ นับเป็นพื้นที่ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุด (ข้อมูลถึงวันที่ 30 ส.ค. 65) จากเป้าหมายที่วางไว้คือ 6,200 ไร่ เฉพาะอำเภอร่องคำมีเกษตรกรเข้าร่วมมากที่สุด 240 ราย พื้นที่ 1,066 ไร่ มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1,000 ไร่ ทำให้ภาพรวมของโครงการฯ ทั้ง 3 จังหวัด (กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุดรธานี) มีพื้นที่มากกว่าที่กำหนดไว้เดิม 6,000 ไร่

สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์เกษตรกรให้ความสนใจโครงการฯ ดังกล่าวค่อนข้างมาก ทางโครงการฯ ปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมในวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ถ้าอำเภอไหนยังมีกลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชนเกษตร หรือเกษตรกรอื่น ๆ ที่สามารถรวมกลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น 20-50-100 ไร่ สนใจเข้าร่วมเพิ่มเติม แต่ยังขาดความมั่นใจ จะมีทีมงานพิเศษของโครงการฯ ลงพื้นที่แบบเจาะลึก เพื่อสร้างความเข้าใจทันที ภายในวันที่ 30 ก.ย 65

นางน้อย สุทธิทักษ์ เกษตรกรบ้านทรัพย์เจริญ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า หลังจากได้ทราบแนวทางการส่งเสริมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงตัดสินใจเข้าร่วมด้วยความเชื่อมั่นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ดีกว่าปลูกข้าว และยังเป็นพืชที่ดูแลง่าย ใช้พื้นที่น้อย ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับราคาข้าวเปลือกที่ตอนนี้กิโลกรัมละ 5 บาท ขณะที่ราคารับซื้อเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการรับรองว่าไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 8.50 บาท

“อยากจะเชิญชวนเกษตรกรในพื้นที่มาร่วมกันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มากขึ้น”

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เช่น โดรนพ่นยา เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องหยอดปุ๋ย การดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดกระบวนการผลิต และความรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จากการปลูกแบบเดิมที่จะได้ผลผลิต 700-800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,300 กิโลกรัมต่อไร่

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการรับซื้อ จะมีการเปิดจุดรับซื้อใกล้เคียงกับแปลงปลูกข้าวโพดมากที่สุด และมีการกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำที่แน่นอน มั่นใจได้ว่า เมื่อเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จะมีรายได้ที่น่าพอใจมากกว่าพืชอื่น เบื้องต้นนี้ทาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) จะเป็นผู้รับซื้อ ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.50 บาทที่ความชื้นไม่เกิน 27%

การประชุมคณะกรรมการโครงการนี้ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ผ่านมาซึ่งมี นายทรงพล ใจกริ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีการพูดคุยซักซ้อมความเข้าใจเรื่องจัดทีมลงพื้นที่ตรวจประเมินแปลงเกษตรกรที่สมัครร่วมโครงการฯ แบบละเอียด จริงจัง เพื่อประเมินความพร้อมศักยภาพตัวเกษตรกร พื้นที่ คุณภาพดิน/ปริมาณน้ำ ทั้งใน และนอกเขตชลประทาน ที่ใช้น้ำบาดาล กับแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะติดตามมาโดยจะเริ่มที่ อ.นามน เป็นอำเภอแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน

โครงการฯมีการจัดอบรมให้ความรู้ แบบเข้มข้นจริงจัง ในกระบวนการเตรียมแปลง การหยอดเมล็ดการให้ปุ๋ย ยา การดูแลรักษาที่ต้องเอาใจใส่แบบประณีต เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างน้อย 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ จะได้มีผลกำไรเพียงพอ และจูงใจการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังอย่างมีประสิทธิผล ส่วนบริษัท CPP จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญไปวิเคราะห์แต่ละแปลงให้ พร้อมกับทำความเข้าใจกับคณะกรรมการระดับอำเภอควบคู่ไปด้วย