การจัดงาน การประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 ภายใต้ชื่องานว่า “หายเจ็บ หายจน รวมพล คนรักกัญ” ที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพเชื่อมต่อสถานที่ปลูก ผลิตกัญชา กัญชงของแต่ละจังหวัดเพื่อสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 65 รวม 3 วันนั้น
ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งเรื่องของรายได้ ตลอดจนมีผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมงาน ทั้งรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เข้ามาร่วมงานประมาณ 40,000 คน มูลค่าของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการยอดขายรวม 3 วัน กว่า 1,000,000 บาท สินค้านั้นขายดีทุกร้าน จนต้องนำสต๊อกสินค้ามาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ในงานดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 โดยมีนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และอสม.รวมทั้งผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้
โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ชูศักยภาพและประโยชน์ของ “กัญชา” ที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ เป็นการส่งเสริมทางเลือกในการรักษาแก่ประชาชน รวมถึงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ให้เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน
ที่ผ่านมา กัญชานอกจากเป็นยารักษาโรคแล้ว ยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 10 มุกศรีโสธรเจริญราชธานี มีจุดเด่น คือ พัฒนาด้านเศรษฐกิจสุขภาพ นำ“กัญชา”กับสถานที่ท่องเที่ยวมาเป็นจุดขาย จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมต่อสถานที่ปลูก ผลิต กัญชา กัญชง กับสถานที่ท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด เช่น วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว กับ ด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี หรือ ไร่กัญชามาทวีฟาร์ม กับ ผามออีแดง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นับว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนของแต่ละจังหวัดได้อย่างมาก
สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี มีโรงพยาบาลภาครัฐและ คลินิกกัญชา ทางการแพทย์ภาคเอกชน เปิดให้บริการรวม 68 แห่ง ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยาสกัดจาก “กัญชา”อย่างปลอดภัย
ข้อมูลตั้งแต่ตุลาคมถึงธันวาคม ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลภาครัฐในเขตสุขภาพที่ 10 ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยากัญชารวม 4,537 ราย เป็นแผนไทย 4,202 ราย และแผนปัจจุบัน 335 ราย ปัจจุบันมีการนำ “กัญชา” มาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมีวิสาหกิจชุมชนได้รับอนุญาตปลูกกัญชาแล้ว 11 แห่ง อยู่ระหว่างขออนุญาต 19 แห่ง และ แสดงเจตจำนงขอปลูกอีก 17 แห่ง มีสถานที่ผลิตตำรับยากัญชาที่ได้รับอนุญาต 2 แห่ง เป็นภาครัฐ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลพนา จ.อำนาจเจริญ และ ภาคเอกชน 1 แห่ง คือ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว จ. อุบลราชธานี
ที่มา เพจประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ