วันที่ 16 สิงหาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นโดยวิธีกู้เบิกเกินบัญชี วงเงิน 1,500 ล้านบาท อายุเงินกู้ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2565 -16 มีนาคม 2566 เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของ ยสท. ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 แล้ว โดยผลประกอบการล่าสุดในรอบ 6 เดือน ปี 2565 ของ ยสท. มีรายได้รวม 17,748 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 17,783 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 35 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยสท. ยังได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565-2566 กรณีที่ประมาณการยอดจำหน่ายบุหรี่ในประเทศต่ำที่สุด (Worst Case) โดยในปีงบประมาณ 2565 คาดการณ์ว่าจะจำหน่ายบุหรี่ในประเทศได้จำนวน 12,050 ล้านมวน และผลกระทบจากโควิด 19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจถดถอยและผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง
ประกอบกับปัญหาจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆที่ยสท.ต้องนำมาใช้ในการผลิตยาสูบและดำเนินกิจกรรมในองค์กรเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงปัญหาการแพร่กระจายของบุหรี่ผิดกฎหมาย จะส่งผลให้ยสท.มีรายรับรวม 38,338 ล้านบาท รายจ่ายรวม 44,571 ล้านบาท ขาดทุนรวม 6,233 ล้านบาท และเงินสดปลายงวดคงเหลือจำนวน 2,684 ล้านบาท
สำหรับปีงบประมาณ 2566 ยสท. คาดการณ์ว่าจะจำหน่ายบุหรี่ในประเทศได้จำนวน 11,552 ล้านมวน มีรายรับรวม 36,711 ล้านบาท รายจ่ายรวม 40,323 ล้านบาท ขาดทุน 3,612 ล้านบาท และเงินสดปลายงวดติดลบจำนวน 928 ล้านบาท ดังนั้น ยสท.จึงมีความต้องการจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นโดยวิธีกู้เบิกเกินบัญชี วงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและใช้เป็นทุนหมุนเวียน เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
สำหรับการยาสูบฯ มีวิสัยทัศน์ (Vision) คือ เป็นองค์กรชั้นนำในธุรกิจยาสูบ และมุ่งมั่นพัฒนาสู่ธุรกิจอื่นเพื่อความยั่งยืน ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล
มีพันธกิจ (Mission) คือ สร้างรายได้หลักจากธุรกิจยาสูบ พัฒนาธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน พัฒนาและเพิ่มคุณค่าทรัพยากรบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) โดยมีค่านิยม (Value) คือ ทำงานเป็นทีม มุ่งเน้นลูกค้า เห็นคุณค่าบุคลากร
อย่างไรก็ตามหากดูผลประกอบการของการยาสูบฯ คือนับตั้งแต่
ปี 2560 รายได้ 68,175 ล้านบาท กำไร 9,343 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 51,566 ล้านบาท กำไร 843 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 50,292 ล้านบาท กำไร 513 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 45,462 ล้านบาท กำไร 550 ล้านบาท
จากข้อมูลเห็นได้ว่า ทั้งรายได้และกำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทย ได้ปรับตัวลดลงมาโดยตลอด สาเหตุของผลประกอบการที่แย่ลงมาจากกรมสรรพสามิตเปลี่ยนโครงสร้างภาษีแบบใหม่เก็บภาษี 2 อัตราซึ่งทำให้กรมสรรสามิต เก็บภาษีได้มากขึ้น และผู้บริโภคระดับกลางถึงล่างที่มีตัวเลือกหลากหลายขึ้น จากบุหรี่ต่างชาติที่ปรับราคาลง