ปีนี้ เป็น “ปีสุดท้าย” ของ “รัฐบาล” ชุดนี้
เกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ ต่างมี “ความกังวล” ว่า “โครงการประกันรายได้” ที่ทำมาแล้ว 3 ปี พอขึ้นปีที่ 4 จะได้ “ไปต่อ” หรือ “พอ” แค่นี้
เพราะ “สถานการณ์รัฐบาล” ไม่ค่อยสู้ดีนัก ทั้งประเด็น “นายกฯ 8 ปี” ประเด็น “กฎหมายลูกเลือกตั้ง” ที่ยังวุ่นวาย จนหลายฝ่ายมองว่า อาจจะเกิด “วิกฤตการเมือง” ขึ้นมาก็ได้
แต่นั่นก็เป็นเรื่องการเมือง ก็ต้องติดตามกันต่อไป
กลับมาดูที่ “กระทรวงพาณิชย์” ตอนนี้ มีความ “ชัดเจน” ขึ้นมาแล้ว “โครงการประกันรายได้” ปี 4 เห็นแววได้ไปต่อ
“นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ดูแลพืชเกษตร 5 ชนิด ที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ ทั้งข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ “เตรียมการ” และ “เตรียมความพร้อม” ในการจัดทำโครงการ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
โครงการใด สิ้นสุดแล้ว ก็ต้อง “ตั้งเรื่อง” และ “ชงเรื่อง” ต่อทันที ส่วนโครงการที่ยังไม่สิ้นสุด ก็ให้เตรียม ๆ เอาไว้
ล่าสุด นายจุรินทร์ได้เป็นประธานการประชุม “คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด” ครั้งที่ 1/2565 เพื่อพิจารณาโครงการประกันรายได้ข้าว ปี 4 หลังจากที่โครงการ ปี 3 จบลงเมื่อเดือนพ.ค.2565 ที่ผ่านมา
ผลการประชุม มีมติว่า จะเดินหน้า “โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว” ปีที่ 4 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีอยู่ 4.68 ล้านครัวเรือนต่อไป โดยใช้เงินงบประมาณรวมกันทั้งสิ้น 86,740.31 ล้านบาท
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมี “มาตรการคู่ขนาน” ที่จะใช้ “ดันราคาข้าว” ควบคู่กันไปด้วย 3 โครงการ วงเงิน 8,022.69 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ชะลอการขายข้าว ในช่วงระยะเวลาที่ข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมาก เพื่อป้องกันข้าวเปลือกราคาตก โดยจะมีเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,500 บาทต่อรายต่อข้าว 1 ตัน
2.โครงการช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% ให้กับสหกรณ์ที่ชะลอการขายข้าวหรือเก็บสต๊อกข้าวไว้ เพื่อไม่ให้ข้าวที่ออกมากมาจนล้นตลาด จนทำให้ข้าวราคาตก
3.โครงการช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% ให้กับโรงสีที่เก็บสต๊อกข้าวเอาไว้
สุดท้าย ได้พิจารณา “โครงการไร่ละ 1,000 บาท” เพื่อสนับสนุนค่า “บริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต” ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 55,364.75 ล้านบาท
ขั้นตอนจากนี้ จะเสนอให้ที่ประชุม “คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” เป็นประธาน เพื่อพิจารณา และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาอนุมัติต่อไป
สำหรับ “โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง” ที่จบโครงการไปแล้ว ตอนนี้ “บอร์ด กยท.” หรือคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้อนุมัติให้เดินหน้าโครงการ ปี 4 มาระยะหนึ่งแล้ว
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเรื่องเสนอ “คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นประธานพิจารณา
ส่วนอีก 3 โครงการ “ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-มันสำปะหลัง” บางโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ บางโครงการใกล้จะสิ้นสุดโครงการแล้ว
ตอนนี้ คณะอนุกรรมการที่กำกับดูแลพืชแต่ละชนิด ก็ได้เตรียม ๆ เรื่องเอาไว้แล้ว ถึงเวลาก็นัดประชุมเคาะเดินหน้า ก่อนเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาและเข้า ครม. ต่อไป
ที่ผ่านมา พูดได้ว่า “โครงการประกันรายได้” ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถดูแล “ชีวิตความเป็นอยู่” และช่วยเพิ่ม “รายได้” ให้กับเกษตรกรได้เป็นจำนวนมาก
อย่าง “ข้าว” มีเกษตรกรได้ประโยชน์ถึง 4.68 ล้านครัวเรือน “ยางพารา” จำนวน 1.88 ล้านราย “ปาล์มน้ำมัน” จำนวน 3.8 แสนราย “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” จำนวน 4.52 แสนราย และ “มันสำปะหลัง” จำนวน 5.3 แสนราย
ก็อย่างที่รู้กัน โครงการประกันรายได้ หากราคา “ต่ำกว่า” ที่ประกันเอาไว้ เกษตรกรก็จะได้รับ “ส่วนต่าง” แต่ถ้าราคา “สูงกว่า” ก็ไม่ได้ แต่เกษตรกร จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากการขายผลผลิตในท้องตลาด
ทุกวันนี้ สินค้าเกษตรหลายรายการ ราคาสูงกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น “ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง” เกษตรกรต่างพอใจ และรัฐบาลก็ยิ้มได้ เพราะช่วยนประหยัดเงินไปได้มากโข
ส่วนโครงการประกันรายได้ ปี 4 ที่เริ่ม “ตั้งต้น” แล้ว นายจุรินทร์ เริ่ม “ผลักดัน” แล้ว แต่การได้ “ไปต่อ” ก็ใช่ว่า จะ “ทางสะดวก” เหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะขณะนี้ เข้าสู่ช่วง “โค้งสุดท้าย” ของรัฐบาลชุดนี้
ต้อง “จับตา” ดูว่า จะมี “มือที่มองไม่เห็น” มาถ่วง มาดึงหรือไม่ หรือจะถึงขั้นอ้างว่า “ไม่มีงบประมาณ” ทำโครงการหรือไม่
อย่างที่รู้ ๆ กัน หากพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ผลักดันโยบาย ที่สร้างความ “พึงพอใจ” และ “โดนใจ” เกษตรกร-ประชาชน พรรคอื่นที่เสียเปรียบ ก็คงไม่ยอมให้ผ่านได้ง่าย ๆ ประมาณว่า “เตะตัดขา” เอาไว้ก่อน
สมมติถ้ามีจริง เกิดขึ้นจริง ก็จำ ๆ กันไว้ก็แล้วกัน ใครมัน “ขัด” ใครมัน “ขวาง”
ก็อย่าไปเลือก ตอน “มีเลือกตั้ง” ก็แค่นั้น
ได้แต่หวังว่า เหตุการณ์เหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้น
เพราะ “ประกันรายได้” ทำมาแล้ว 3 ปี ดังนั้น ปี 4 ควรจะได้ “ไปต่อ”
เกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ เขารออยู่เพียบ
บทความ จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์